วันที่ 18 สิงหาคม 2564 เป็น “วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ” เพื่อรำลึกถึง พระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช ” พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” ที่ทรงมีต่อประชาชนชาวไทย ทรงวางรากฐานในการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาพัฒนาบ้านเมืองให้เจริญก้าวหน้า ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาทั่วประเทศทั้ง 20 แห่ง จึงได้จัดกิจกรรมเนื่องในวันวิทยาศาสตร์ต่อเนื่องทุกปีตลอดมา แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) มีความรุนแรงในกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ ดังนั้น ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาทั่วประเทศ จึงได้ปรับเปลี่ยนการจัดกิจกรรมเนื่องใน “วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ ประจำปี 2564” เป็นแบบ “ปกติวิถีใหม่ (New Normal)” ในรูปแบบออนไลน์ มีการเผยแพร่ความรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ดาราศาสตร์และอวกาศ และจัดกิจกรรมต่าง ๆ ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ (Social Network) ในรูปแบบ Live สด ผ่าน Facebook ผ่านระบบ Zoom หรือเว็บไซต์ของศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาแต่ละแห่ง เพื่อให้นักเรียน นักศึกษาและประชาชนทั่วไปได้ร่วมกิจกรรมในช่วงเดือนสิงหาคมนี้
ในทุก ๆ วันที่ 18 สิงหาคม ของทุกปี
เป็นอีกวันหนึ่งที่มีความสำคัญในวงการวิทยาศาสตร์ วงการดาราศาสตร์ และวงการศึกษาของไทย
เพราะถ้าย้อนอดีตกลับไปเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2411
จะเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย”
ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรสุริยุปราคาเต็มดวง ที่ตำบลหว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
หลังจากที่พระองค์ทรงคำนวณการเกิดสุริยุปราคาไว้ล่วงหน้า 2 ปี
ต่อมาคณะรัฐมนตรีจึงกำหนดให้วันที่ 18 สิงหาคม ของทุกปี เป็น “วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ”
รัฐบาลไทยกำหนดให้วันที่ 18 สิงหาคม เป็นวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ
เนื่องจากวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2411 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ได้เสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคและสถลมารค ทอดพระเนตรสุริยุปราคาเต็มดวง
ที่ทรงคำนวณพยากรณ์ไว้ล่วงหน้า 2 ปี
ว่าจะเกิดในวันอังคาร ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 10 ปีมะโรง สัมฤทธิศก จุลศักราช 1230
โดยจะเห็นหมดดวงและชัดเจนที่สุด คือ ที่หมู่บ้านหัววาฬ ตำบลหว้ากอ อำเภอเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ตั้งแต่บริเวณเกาะจาน ขึ้นไปถึงปราณบุรี และลงไปถึงจังหวัดชุมพร จึงโปรดเกล้าฯ
ให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ไปสร้างค่ายหลวงและพลับพลาที่ประทับ
มีคณะนักดาราศาสตร์จากประเทศฝรั่งเศส และเซอร์ แฮรี่ ออด เจ้าเมืองสิงคโปร์
เดินทางมาเข้าเฝ้าฯ และร่วมในการสังเกตการณ์ และต่อมาได้มีการสร้าง “อุทยานวิทยาศาสตร์” ที่บ้านหว้ากอ
ความคิดเห็น