“ชาวไทยกูย” หรือชาวไทยส่วย ที่อาศัยอยู่หมู่ที่ 8 บ้านม่วงหวาน และหมู่ที่ 15 บ้านโคกเจริญ ตำบลจันดุม อำเภอพลับพลาชัย จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นชุมชนชาวไทยกูยที่ย้ายถิ่นฐานมาจากบ้านเฉนียง ตำบลบึง อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ เมื่อปี พ.ศ. 2494 จากชาวไทยกูยประมาณ 10 ครอบครัว ด้วยเหตุผลของความคับแคบด้านพื้นที่ทำกินของถิ่นอาศัยเดิมทำให้ชาวบ้านพากันย้ายถิ่นฐานไปในพื้นที่ต่างๆ และตัดสินใจสร้างที่อยู่อาศัยอย่างถาวรในบริเวณใกล้หนองน้ำบุฤาษี ตำบลจันดุม อำเภอพลับพลาชัย จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติและเหมาะสำหรับการสร้างแหล่งที่อยู่อาศัย จากนั้นได้มีการขยายชุมชนอย่างต่อเนื่องและแบ่งการปกครองเป็นหมู่บ้านต่างๆ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2520 ชาวบ้านได้มีการรวมกลุ่มชุมชนไทยกูยสองหมู่บ้าน เรียกว่า ชุมชนบ้านม่วงหวาน-โคกเจริญ เพื่อสร้างความสมัครสมานสามัคคีและร่วมกันสืบทอดวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของชุมชนชาวไทยกูย โดยร่วมกิจกรรมสำคัญที่ยังคงยึดถืออย่างเคร่งครัดภายในชุมชน ได้แก่ การจัดประเพณีเซ่นไหว้ผีปู่ตาในเดือน 3 และเดือน 6 ซึ่งคนในชุมชนจะพร้อมกันโดยมิได้นัดหมายล่วงหน้าเพื่อประกอบพิธีกรรมในเวลาเช้าตรู่ ของวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 และวันขึ้น 6 ค่ำเดือน 6  แต่ละครอบครัวจะนำไก่ที่ต้มสุกแล้ว กรวยใส่ดอกไม้และธูป 1 ดอกจำนวน 5 กรวย ข้าวสุก 1 ถ้วย เหล้าขาว ต้นกล้วย  ต้นอ้อย ข้าวต้มมัด กล้วยสุก และหมากพลู มาเซ่นไหว้ผีปู่ตาโดยผ่านผู้ทำพิธีที่คนในชุมชนเรียกว่า “พ่อจ้ำ” ภายหลังการเซ่นไหว้จะมีการทำนายโชคชะตา เช่น เคราะห์ทางด้านอุบัติเหตุหรือการเจ็บป่วย และโชคลาภของครอบครัว จากคางไก่ที่แต่ละบ้านได้ต้มมาเพื่อทำพิธีและเซ่นไหว้เสร็จเรียบร้อยแล้ว ชาวบ้านจะนำคางไก่ของตนมาลอกออกเพื่อดูลักษณะของคางไก่ หากมีลักษณะม้วนเป็นวงกลมแสดงถึงความมั่งคั่งร่ำรวยของครอบครัว หากม้วนเป็นวงกลมและมีการยื่นออกมาคล้ายหาง แสดงถึงความมั่งคั่งมากยิ่งขึ้น หากคางไก่มีลักษณะคล้ายกอดอก แสดงถึงครอบครัวนั้นจะมีเคราะห์และอาจมีการเจ็บป่วย  หากพบว่าคางไก่มีลักษณะตรง ต้องดูความอุดมสมบูรณ์ของคางไก่ประกอบด้วย ซึ่งหากคางไก่ผอมแสดงว่าคนในครอบครัวจะเจ็บป่วย สำหรับครอบครัวที่ได้รับคำทำนายไม่ดี สามารถแก้เคล็ดได้โดยการจัดพิธีกรรมอีกครั้ง ในวันแรม 3 ค่ำเดือน 3 หรือวันแรม 6 ค่ำเดือน 6 ซึ่งหากพบคางไก่มีลักษณะไม่ดี ให้ทำพิธีการสะเดาะเคราะห์เพิ่มเติม เพื่อเป็นการป้องกันเคราะห์หรืออุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นกับครอบครัว นอกจากนี้ คางไก่ยังใช้ทำนายผลผลิตทางการเกษตรประจำปีของชุมชนบ้านม่วงหวาน-โคกเจริญ  โดยคางไก่ที่อ่อนปวกเปียกหมายถึงน้ำท่วมนาข้าว ข้าวเป็นโรค ผลผลิตทางการเกษตรไม่ดี หากคางไก่อ้วนเสมอกัน แสดงถึงข้าวอุดมสมบูรณ์ดี ผลผลิตทางการเกษตรดี นอกจากนี้ชุมชนยังมีประเพณีสำคัญในเดือน 10  ได้แก่ ประเพณีการไหว้บรรพบุรุษ ซึ่งชาวไทยกูยได้ยึดถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด  บุตรหลานที่อยู่ตามจังหวัดต่างๆ ต้องเดินทางไปไหว้บรรพบุรุษ ประเพณีอื่นๆ เช่น ประเพณีการแต่งงาน ชาวไทยกูยจะมีการจัดงานแต่งงานตลอดทั้งวัน มีการรวมญาติของคู่แต่งงานและการแจกเงินบุตรหลาน เมื่อแต่งงานเรียบร้อยแล้ว คู่แต่งงานจะต้องเดินทางไปไหว้ “ผีปะกำ” ของบรรพบุรุษที่อำเภอจอมพระ จังหวัดสุรินทร์

ไฟล์แนบ

pdf วิถีชีวิตและการเยียวยาผู้ป่วยชาวกูย

ขนาดไฟล์ 691 KB | จำนวนดาวน์โหลด 269 ครั้ง

ความคิดเห็น