บทคัดย่อ

เด็กติดเกมเป็นปัญหาสำคัญคุกคามต่อคุณภาพชีวิตและวัฒนธรรม ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาและความมั่นคงของประเทศ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องมีการแก้ไขอย่างมีส่วนร่วมในทุกภาคส่วน ได้แก่ ตัวเด็ก ครอบครัว ชุมชน ซึ่งประกอบด้วยหน่วยงานภาครัฐบาลและภาคเอกชน โดยการออกแบบนโยบายเร่งด่วนกรณีเด็กติดเกมอย่างเป็นระบบของหน่วยงานภาครัฐบาลเป็นสิ่งสำคัญที่จะสามารถแก้ไขปัญหาเด็กติดเกมให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ เมื่อนำแนวคิดและวิเคราะห์กระบวนการนโยบายด้วย The stage-sequential model ของ Ripley (1996) จำนวน 4 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นการกำหนดนโยบาย ขั้นร่างนโยบาย ขั้นนำนโยบายสู่การปฏิบัติ และขั้นประเมินผลนโยบาย โดยใช้ทฤษฎี Multiple streams ของ Kingdon (1995) ในขั้นตอนกระบวนการกำหนดนโยบาย สามารถสะท้อนการจัดทำนโยบายและแนวทางการแก้ไขปัญหาเด็กติดเกมสู่การปฏิบัติเร่งด่วนของประเทศไทย ดังนี้ การตรวจสอบความเหมาะสมของเกม มาตรการที่ชัดเจนจริงจังสำหรับร้านที่เปิดเกินเวลาและเป็นแหล่งมั่วสุม การจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ในชุมชนผ่านมิติทางสังคมและการเมือง อาทิ การบำเพ็ญประโยชน์ การส่งเสริมด้านกีฬาและการสร้างต้นแบบเด็ก โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน ได้แก่ วัด โรงเรียน และครอบครัวซึ่งเป็นสถาบันที่มีความสำคัญที่สุดที่อยู่ใกล้ตัวเด็กที่จะช่วยพัฒนาและส่งเสริมให้เด็กให้มีการเจริญเติบโตอย่างเหมาะสม ซึ่งเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีและสามารถสร้างเด็กให้มีคุณภาพ ผู้ปกครองต้องมีกระบวนการทางมาตรการติดตามกำกับดูแลการเล่มเกมของเด็ก การให้ข้อคิดเห็นในเชิงสร้างสรรค์ ลดความขัดแย้งในครอบครัว และการร่วมทำกิจกรรมในครอบครัว การฝึกเด็กให้มีจิตใจรักธรรมชาติและสนับสนุนศักยภาพในความสามารถพิเศษของเด็ก รวมถึงการฝึกจิตทางด้านคุณธรรมจริยธรรม วิถีชีวิต เข้าวัดทำบุญตามเทศกาลสำคัญ เหล่านี้จะช่วยป้องกันเด็กติดเกมได้ ซึ่งท้ายสุดแล้วเด็กเกิดกระบวนการคิดและเลือกปฏิบัติให้เหมาะสมอันจะช่วยแก้ไขปัญหาเด็กติดเกมได้อย่างทันท่วงทีและยั่งยืน

 

คำสำคัญ : การวิเคราะห์นโยบาย การจัดสภาพแวดล้อมรอบตัวเด็ก นโยบายการจัดสภาพแวดล้อมรอบตัวเด็ก

ไฟล์แนบ

pdf บทความเด็กติดเกม

ขนาดไฟล์ 115 KB | จำนวนดาวน์โหลด 258 ครั้ง

ความคิดเห็น