ผู้วิจัย

ธงรบ ขุนสงคราม

บทคัดย่อ

บทคัดย่อ การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) ศึกษาการประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าชุมชน 2) ศึกษาสถานการณ์ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของป่าชุมชน และ 3) เพื่อหาแนวทางการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าชุมชน ดำเนินการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมของชุมชน (Participatory Action Research : PAR) ผู้วิจัยทำการเก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้วิธีการสัมภาษณ์เจาะลึก การสนทนากลุ่ม การจัดเวทีวิเคราะห์ปัญหา การเดินสำรวจ และการสังเกตแบบมีส่วนร่วมและไม่มีส่วนร่วม ผลการวิจัยมีดังนี้ 1. การประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าชุมชนศูนย์อุดมศึกษาฯปะคำ พบว่า คนในชุมชนมีการประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการปลูกพืชหมุนเวียน การปล่อยหญ้าช่วยยึดคันนาการสืบชะตาน้ำ การสร้างฝายกั้นน้ำ และการอนุรักษ์ป่าไม้ ตามความเชื่อเรื่องป่าดอนปู่ตา การบวชป่า และทำบุญป่า 2. สถานการณ์ปัญหาการเปลี่ยนแปลงป่าชุมชนศูนย์อุดมศึกษาฯปะคำ เริ่มเกิดขึ้นในปีพุทธศักราช 2528 โดยหน่วยงานทางราชการได้ให้ประชาชนในพื้นที่จับจองพื้นที่ป่าชุมชนเพื่อทำเป็นพื้นที่เกษตร ทำให้คนในชุมชนเข้าไปจับจองพื้นที่ป่าชุมชน โดยไม่ทราบข้อมูลว่าเป็นพื้นที่ราชพัสดุของกรมธนารักษ์ นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มนายทุนเข้าไปบุกรุกแผ้วถางครอบครองทำประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าว ทั้งปลูกยางพารา มันสำปะหลัง ยูคาลิปตัส ป่าชุมชนจึงไม่สามารถฟื้นตัวได้ และที่ผ่านมาคนในชุมชนไม่มีแนวทางในการป้องกันรักษาทรัพยากรป่าชุมชนอย่างชัดเจน 3. แนวทางการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าชุมชนศูนย์อุดมศึกษาฯปะคำ ผลจากการใช้ประโยชน์จากป่าชุมชน คิดเป็นมูลค่าที่เกิดจากป่าชุมชนทั้งใช้กินและนำไปจำหน่าย เป็นจำนวนเงิน 232,545 บาท/ต่อปี จึงเป็นชุดข้อมูลในการตัดสินใจให้กับชุมชนได้วางแผนในการแก้ไขปัญหาการบุกรุกทำลายป่าชุมชน และหาแนวทางการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าชุมชนอย่างคุ้มค่า ได้แก่ การตั้งกฎกติกาและบทลงโทษ แต่งตั้งเจ้าหน้าที่ศูนย์อุดมศึกษาฯปะคำ เป็นคณะกรรมการดูแลรักษาป่าชุมชน มีอำนาจตักเตือน ปรับ จับส่งดำเนินคดีตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง สร้างเขตพื้นที่อนุรักษ์ป่าชุมชน สร้างหลักสูตรท้องถิ่นด้านพืชสมุนไพร และการประยุกต์ใช้ทุนทางวัฒนธรรมมาจัดการป่าชุมชน เช่น การประกาศให้วันที่ 12 สิงหาคมของทุกปี คนในชุมชน จะต้องร่วมกันทำบุญป่า บวชป่า ปลูกป่าในพื้นที่สาธารณะของหมู่บ้าน ชุมชน ทำความสะอาดแหล่งน้ำ เพื่อเป็นการป้องกันรักษาป่าชุมชนไม่ให้ถูกทำลายอีกต่อไป คำสำคัญ: การอนุรักษ์ฟื้นฟู, ป่าชุมชน, การประยุกต์ใช้, ภูมิปัญญาท้องถิ่น

หน่วยงานการอ้างอิง

คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์

ไฟล์แนบ

pdf BRICC II 131 (mno.0124) 0131 บทความวิจัยฯ

ขนาดไฟล์ 153 KB | จำนวนดาวน์โหลด 222 ครั้ง

About the author

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ระดับ 8 หัวหน้าสาขาวิชาดนตรี ภาควิชามนุษยศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ละสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์

ความคิดเห็น