ผู้วิจัย

ปิติพัฒน์ นิตยกมลพันธุ์

บทคัดย่อ

การศึกษาในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาและเปรียบเทียบประสิทธิภาพทางเทคนิคที่แท้จริง ประสิทธิภาพทางเทคนิค ประสิทธิภาพต่อขนาด และแนวทางในการปรับปรุงประสิทธิภาพ รวมไปถึงศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อประสิทธิภาพทางเทคนิคของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสิ่งทอในอำเภอเฉลิมพระเกียรติ และอำเภอนาโพธิ์ จังหวัดบุรีรัมย์ จำนวน 29 กลุ่ม ประกอบไปด้วยกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสิ่งทอในอำเภอเฉลิมพระเกียรติ จำนวน 11 กลุ่ม และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสิ่งทอในอำเภอนาโพธิ์ จำนวน 18 กลุ่ม ทำการวิเคราะห์ประสิทธิภาพด้วยวิธีการวิเคราะห์การล้อมกรอบข้อมูล (Data Envelopment Analysis: DEA) โดยวิเคราะห์ด้านปัจจัยการผลิต (Input-Oriented) ภายใต้ข้อสมมติผลตอบแทนต่อขนาดผันแปร (Variable Return to Scale: VRS) ซึ่งปัจจัยการผลิตประกอบไปด้วย มูลค่าของเครื่องจักร จำนวนสมาชิก มูลค่าของวัตถุดิบหลัก และค่าใช้จ่ายในการผลิต ส่วนผลผลิตคือรายได้ และวิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อประสิทธิภาพทางเทคนิคด้วยแบบจำลองโทบิต (Tobit Model) ผลการศึกษาพบว่ามากกว่าร้อยละ 70 ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสิ่งทอในอำเภอเฉลิมพระเกียรติ และอำเภอนาโพธิ์ จังหวัดบุรีรัมย์ ไม่มีประสิทธิภาพ ทั้งประสิทธิภาพทางเทคนิคและประสิทธิภาพทางเทคนิคที่แท้จริง จึงส่งผลทำให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนสิ่งทอในอำเภอเฉลิมพระเกียรติ และอำเภอนาโพธิ์ จังหวัดบุรีรัมย์ ขาดประสิทธิภาพต่อขนาด และมีการจัดสรรทรัพยากรในการผลิตยังไม่เหมาะสม ซึ่งจากการเปรียบเทียบประสิทธิภาพพบว่า กลุ่มวิสาหกิจชุมชนสิ่งทอในอำเภอ เฉลิมพระเกียรติมีประสิทธิภาพทางเทคนิคที่แท้จริงมากกว่า แต่มีประสิทธิภาพทางเทคนิคและประสิทธิภาพต่อขนาดน้อยกว่ากลุ่มวิสาหกิจชุมชนสิ่งทอในอำเภอนาโพธิ์ และเมื่อพิจารณาแนวทางในการปรับปรุงประสิทธิภาพทั้ง 2 อำเภอ ควรปรับปรุงมูลค่าของเครื่องจักรเป็นอันดับแรก เนื่องจากมีร้อยละของการปรับปรุงปัจจัยการผลิตมากที่สุด และควรพัฒนาวิธีการผลิตหรือนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการผลิตเพื่อให้สินค้ามีคุณภาพและสามารถแข่งขันได้ สำหรับปัจจัยที่มีผลต่อประสิทธิภาพทางเทคนิคของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสิ่งทอในอำเภอเฉลิมพระเกียรติ และอำเภอนาโพธิ์ จังหวัดบุรีรัมย์ ประกอบไปด้วย สัดส่วนของทุนต่อแรงงาน ที่ตั้งของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสิ่งทอ ประสบการณ์ของหัวหน้ากลุ่มวิสาหกิจชุมชนสิ่งทอ และชนิดของผลิตภัณฑ์ที่ผลิต ซึ่งจากการศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อประสิทธิภาพทางเทคนิคในครั้งนี้ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนสิ่งทอสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการปรับปรุงการผลิต หรือบริหารจัดการกลุ่ม เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพต่อไป

ไฟล์แนบ

pdf 02_บทคัดย่อ

ขนาดไฟล์ 165 KB | จำนวนดาวน์โหลด 238 ครั้ง

ความคิดเห็น