ตามหลักทฤษฎี การประเมินผลการปฏิบัติงานเป็นไปเพื่อต้องการช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานทราบข้อดีข้อเสียเกี่ยวกับศักยภาพความสามารถของตนในการทำงาน นำไปสู่ความพยายามในการพัฒนาปรับปรุงตนเองให้มีศักยภาพในการทำงานที่สูงขึ้นดีขึ้นเรื่อยๆ เพราะโดยธรรมชาติมนุษย์ทุกคนล้วนต้องการความสำเร็จความเจริญเติบโตก้าวหน้า แต่ถ้าหากการประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงานเป็นไปอย่างไม่มีความชัดเจน ไม่เป็นกลาง เลือกที่รักมักที่ชัง หรือกำหนดเกณฑ์มาตรฐานไว้สูงหรือยากเกินไป หรือไม่ทำการประเมินตามเกณฑ์ที่กำหนด ก็จะไม่ยุติธรรมต่อพนักงานซึ่งจะส่งผลต่อความไม่พอใจในการทำงาน พนักงานขาดขวัญกำลังใจ และประสิทธิภาพในการทำงานก็จะลดลง ซึ่งจะส่งผลเสียโดยรวมต่อหน่วยงาน  ดังนั้น ก่อนที่หน่วยงาน (ในที่นี้เรียกว่าผู้ประเมิน) จะทำการประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงาน (ในที่นี้เรียกว่าผู้รับการประเมิน) จะต้องมีกระบวนการที่ก่อให้เกิดความชัดเจนเกี่ยวกับนโยบาย หลักเกณฑ์ และวิธีการในการประเมินก่อน โดยทั้งผู้ประเมินและผู้รับการประเมินจะต้องยอมรับในนโยบาย หลักเกณฑ์ และวิธีการในการประเมินนั้นก่อน แล้วค่อยประกาศวันเริ่มต้นและวันสิ้นสุดหรือช่วงระยะเวลาที่จะทำการประเมิน เพื่อให้ผู้รับการประเมินทราบแนวทางล่วงหน้าว่าจะต้องปฏิบัติงานอะไรบ้างเพื่อให้บรรลุหรือผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำที่หน่วยงานคาดหวังหรือกำหนดให้พนักงานต้องทำให้สำเร็จนั้น

**ข้อความข้างต้นเป็นความคิดเห็นส่วนตัว สั่งสมจากประสบการณ์ทำงานและการสอนทางการบริหารทรัพยากรมนุษย์ ว่างๆ จะมาเขียนเติม (ถ้าไม่ลืมเสียก่อน)**

ความคิดเห็น