ผู้วิจัย
ครุปกรณ์ ละเอียดอ่อน สมหมาย ปะติตังโข และกิ่งแก้ว ปะติตังโข
บทคัดย่อ
การวิจัยนี้เป็นการนำเปลือกเมล็ดมะขามมาทำการสกัดสารพอลิฟีนอลด้วยแอลกอฮอลล์ ทดสอบฤทธิ์ทางชีวภาพ และนำไปเป็นส่วนผสมของอาหารไก่เนื้อ โดยเปลือกเมล็ดมะขาม 1 กิโลกรัม สกัดได้สารพอลิฟีนอลที่มีโมเลกุลขนาดเล็กและไม่เป็นพิษจำนวน 200 กรัม เมื่อหาปริมาณพอลิฟีนอลรวมจะได้ค่าเฉลี่ย 18.085 ppm ที่ความเข้มข้นของสารตัวอย่าง 100 ppm การศึกษาสมบัติการต้านอนุมูลอิสระโดยวิธี DPPH พบว่า สารสกัดจากเปลือกเมล็ดมะขามมีความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระได้ดีที่ค่า IC50 19.59 ppm การต้านอนุมูลอิสระโดยวิธี FRAP พบว่า สารสกัดมีความสามารถในการรีดิวส์ Fe3+ ไปเป็น Fe2+ ซึ่งได้ปริมาณ Fe2+ 0.864 ppm ส่วนการศึกษาสมบัติการต้านอนุมูลอิสระโดยวิธี ABTS+ พบว่า ทุกความเข้มข้นของสารสกัดจากเปลือกเมล็ดมะขามมีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระด้วยเทคนิค ABTS ได้ค่าเปอร์เซ็นต์ Radical Scavenging activity เป็น 51.389 ppm การเสริมสารสกัดเปลือกเมล็ดมะขามในการเลี้ยงไก่เนื้อทำให้ไก่มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น การเจริญเติบโตเฉลี่ยต่อวันและประสิทธิภาพการใช้อาหารสูงขึ้น รวมถึงทำให้ปริมาณไขมันในช่องท้องของไก่เนื้อลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) สำหรับระดับที่เหมาะสมในการเสริมสารสกัดเปลือกเมล็ดมะขามในการเลี้ยงไก่เนื้อ คือ ที่ระดับ 300 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมอาหาร มีผลทำให้ประสิทธิภาพในการผลิตไก่เนื้อดีที่สุด ผลจากการวิจัยนี้สามารถนำไปใช้ในการเลี้ยงไก่เนื้อในระดับครัวเรือนและทั้งยังสามารถขยายไปในระดับอุตสาหกรรมได้อีกด้วย
บรรณานุกรม
ครุปกรณ์ ละเอียดอ่อน สมหมาย ปะติตังโข และกิ่งแก้ว ปะติตังโข. (2562). "การเลี้ยงไก่ด้วยสารเสริมจากเปลือกเมล็ดมะขามเพื่อลดต้นทุนการผลิตของ เกษตรกรในจังหวัดบุรีรัมย์," วารสารวิจัยราชภัฏเชียงใหม่. 20 (1): 31-40.
ความคิดเห็น