ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมของผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ รัฐบาลจึงได้กำหนดให้วาระผู้สูงอายุเป็นวาระแห่งชาติ โดยมีแนวทางขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการผู้สูงอายุแห่งชาติครอบคลุมทั้งกลุ่มก่อนวัยสูงอายุ คือ อายุระหว่าง 25-59 ปี และผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป โดยกลุ่มก่อนวัยสูงอายุมีแผนส่งเสริมเน้นเรื่องการอบรม การไม่มองผู้สูงอายุเป็นภาระ วิธีการดูแลผู้สูงอายุ และการปรับสิ่งแวดล้อมให้สอดคล้องกับสภาพผู้สูงอายุ ส่วนกลุ่มผู้สูงอายุได้มีการจัดทำแผนการดูแลผู้สูงอายุระยะยาวที่ครอบคลุมจำนวนผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงมากขึ้น โดยมีเป้าหมายให้ผู้สูงอายุได้รับการตรวจ ป้องกัน และดูแลสุขภาพระยะยาวที่บ้านและชุมชนตามระดับความจำเป็น
สำหรับในพื้นที่ตำบลเมืองฝาง อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ ครอบคลุมพื้นที่ 16 หมู่บ้าน มีจำนวนประชากรจำนวน 7,877 คน โดยแยกเป็นเพศชายจำนวน 3,959 คน เพศหญิงจำนวน 3,918 คน มีจำนวนประชากรกลุ่มผู้สูงอายุมากขึ้นและพบว่ามีผู้สูงอายุที่มีสภาวะติดบ้านและผู้สูงอายุติดเตียง รวมจำนวน 36 คน โดยแยกเป็นกลุ่มติดเตียง จำนวน 10 คน กลุ่มติดบ้านจำนวน 26 คน (องค์การบริหารส่วนตำบลเมืองฝาง, 2563) ดังนั้น เพื่อเป็นการสนับสนุนการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุซึ่งเป็นวาระแห่งชาติ จำเป็นต้องมีการดำเนินงานอย่างมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนเพื่อให้การดำเนินงานด้านการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุตำบลเมืองฝางเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังเช่นโครงการวิศวกรสังคม สร้างนวัตกรเพื่อพัฒนานวัตกรรมในการบูรณาการการเรียนการสอนสู่การพัฒนาท้องถิ่น ภายใต้ชื่อ “โครงการนวัตกรน้อยร่วมใจสร้างนวัตกรรมใหม่เพื่อสุขภาพผู้สูงวัยชุมชนเมืองฝาง” ซึ่งเป็นโครงการบริการทางวิชาการ ที่สร้างเยาวชนจิตอาสาแก้ไขปัญหาในชุมชนของตน ซึ่งจากการสำรวจปัญหาของผู้สูงอายุและประชุมยืนยันประเด็นปัญหาผู้สูงอายุเมืองฝาง พบว่ามีปัญหาเรื่องการปวดข้อต่าง ๆ โดยเฉพาะการปวดข้อเข่า และข้อเข่าเสื่อม จึงเสนอประเด็นการสร้างนวัตกรรมการดูแลสุขภาพข้อต่าง ๆ และข้อเข่า วัตถุประสงค์ของโครงการวิศวกรสังคมครั้งนี้คือ เพื่อสร้างนวัตกรรมด้านการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุตำบลเมืองฝาง ให้กับผู้ใกล้เป็นผู้สูงอายุ และผู้สูงอายุชุมชนเมืองฝาง จำนวน 1,000 คน ซึ่งทางกลุ่มวิศวกรสังคมได้นำเสนอนวัตกรรมสมุนไพรลดการปวดข้อ ลดการอักเสบ ปวดบวมของกล้ามเนื้อ โดยใช้สมุนไพร “ไพล” ซึ่งเป็นสมุนไพรในชุมชนและผลิตเป็นนวัตกรรมด้านการส่งเสริมสุขภาพและบรรเทาอาการปวดข้อ ในรูปของน้ำมันไพล หรือน้ำมันเหลือง และน้ำมันหม่องไพล ทดลองและผ่านการประเมินจากผู้ทรงคุณวุฒิด้านสุขภาพจึงผลิตมามอบให้ผู้สูงอายุและผู้ใกล้เป็นผู้สูงอายุชุมชนเมืองฝาง จำนวน 1,000 ชิ้น ผลสำรวจความพึงพอใจพบว่าอยู่ในระดับมาก โดยมีผลความพึงพอใจด้านการใช้ประโยชน์และภาพรวมของนวัตกรรมอยู่ในระดับมากที่สุด ซึ่งทางชุมชนและทางองค์การบริหารส่วนตำบลเมืองฝางได้ให้ความสำคัญในการเรียนรู้พัฒนาปรับปรุงสูตรให้เป็นของชุมชนเมืองฝาง และนำสู่การขยายผลสามารถทำใช้ทุกบ้าน นำไปสู่การผลิตเป็นสินค้าของชุมชนที่มีคุณภาพดีและราคาถูก และได้สร้างเครือข่ายทางด้านสาธารณสุขในด้านการพัฒนาระบบสุขภาพชุมชนเมืองฝางด้วย
ความคิดเห็น