ผู้วิจัย

Chaleomkiet Yenphech

บทคัดย่อ

การศึกษาวิจัยนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาทิศทางรูปแบบการสอนภาษาอังกฤษในทศวรรษหน้า (พ.ศ.2560-2570) ในหลายมิติ ได้แก่ ปัจจัยภายนอก และปัจจัยภายในทางการศึกษา รูปแบบวิธีสอน เนื้อหาตำรา กิจกรรม สื่อการเรียนการสอน ข้อเสนอแนะและองค์ความรู้หรือยุทธศาสตร์ใหม่เพิ่มเติมกับอนาคตภาพทางบวก ทางลบ และอนาคตภาพที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุดในบริบทของประเทศไทย เป็นการวิจัยอนาคตด้วยเทคนิค EDFR (Ethnographic Delphi Futures Research) กับกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ 17 สถาบันอุดมศึกษาไทย 4 ภาค รวม 17 ท่าน โดยวิธีสุ่มแบบเจาะจง (Purposive sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาวิจัย ได้แก่ 1) แบบสัมภาษณ์กึ่งโครงสร้าง (Semi-Structure) เพื่อการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth interview) แบบปลายเปิดวิเคราะห์และสังเคราะห์เนื้อหา (Content analysis) ในรอบที่ 1 ของ EDFR 2) แบบสอบถาม (Questionnaire) ปลายปิดแบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ เพื่อ EDFR รอบที่ 2 วิเคราะห์ข้อมูลโดยหาค่ามัธยฐาน (Median: Med.) และค่าพิสัยระหว่างควอไทล์ (Interquartile range: IQR.) ตามเกณฑ์ที่กำหนด ผลการศึกษาวิจัยพบว่า ฉากทัศน์ในแต่ละสถาบันอุดมศึกษายังมีความหลากหลาย ในการเลือกใช้ ตำรา สื่อ และกิจกรรมการเรียนการสอน จึงมีความแตกต่างกันไปตามความเหมาะสมโดยต้องพิจารณาดูที่ความสำเร็จของผู้เรียนเป็นสำคัญ และต้องตระหนักถึงความหลากหลายของภาษาอังกฤษในเวทีการสนทนาจริง มีสิทธิเสรีภาพสื่อสารตามอัตลักษณ์ (Personal Identity) การใช้สำเนียง การเสนอแนวคิด การใช้สำนวน การแสดงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม (Cultural Identity) จึงจะเรียกได้ว่าเป็นการสอนภาษาอังกฤษในฐานะที่เป็นภาษานานาชาติ ผู้บริหารและผู้มีอำนาจในการตัดสินใจเชิงนโยบายที่จะหมุนวงล้ออนาคต (Futures Wheel Forecasting) ของประเทศต้องเข้าใจธรรมชาติและการเรียนรู้ของภาษา การเปลี่ยนแปลงหรือประกาศใช้นโยบายใด ๆ ต้องมีความสัมพันธ์กันทั้งระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา อุดมศึกษาเป็นแผนต่อเนื่องระยะยาวอย่างยั่งยืน ทิศทางอนาคตภาพของรูปแบบการสอนภาษาอังกฤษในทศวรรษหน้า (ช่วงปี พ.ศ. 2560-2570) เกิดขึ้นจากการบูรณาการภาษาอังกฤษให้เข้ากับศาสตร์อื่น ๆ (Combined Degree) ผู้เรียนได้เรียนรู้ควบคู่กับฝึกประสบการณ์ในบริบทของการทำงานจริงโดยวิธีสอนแบบ WIL (Work-integrated Learning) เพื่อเน้นให้สามารถทำธุรกรรมทางสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านการสื่อสารปฏิสัมพันธ์ทั้งแบบเผชิญหน้าและผ่านเทคโนโลยี มีความคิดสร้างสรรค์ สร้างงาน สร้างอาชีพเองได้โดยใช้ภาษาอังกฤษเป็นเครื่องมือในการสื่อสารปฏิสัมพันธ์ สร้างอัตลักษณ์ คุณค่า ความน่าเชื่อถือ แก่ตนเอง และองค์กรได้อย่างเหมาะสมผ่าน global communication network และสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงทางนโยบายการศึกษาโลก ประเทศไทยต้องเตรียมการสอนภาษาอังกฤษแบบออนไลน์เพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตของคนทุกช่วงวัย (Lifelong online learning) ในการรับมือกับภาวะผู้สูงวัยของประเทศที่กำลังจะฉายภาพและเกิดขึ้นจริงในอนาคต

บรรณานุกรม

Yenphech, C. (2018). Teaching English Patterns in the Next Decade (2017-2027): Trends and Challenges. THAITESOL JOURNAL, 31(2), 20-46.

ไฟล์แนบ

pdf Volume_31_Number_2_December_2018 (1)

ขนาดไฟล์ 3 MB | จำนวนดาวน์โหลด 957 ครั้ง

ความคิดเห็น