ผู้วิจัย
วรวัฒน์ พรหมเด่น และคณะ
บทคัดย่อ
สารประกอบไอโซฟลาโวนอยด์ (isoflavonoid) บริสุทธิ์จำนวน 24 ชนิด ที่สกัดได้จากแก่นของต้นครี้ (Dalbergia parviflora) ได้ถูกนำมาวิเคราะห์เพื่อประเมินฤทธิ์ต้านออกซิเดชันในระดับหลอดทดลอง (in vitro) ด้วยวิธีที่แตกต่างกัน 3 วิธี คือ วิธี xanthine/xanthine oxidase (X/XO) วิธี ORAC และวิธี DPPH ในการทดลองนี้สามารถจำแนกสารประกอบประเภท ไอโซฟลาโวนอยด์ที่มีอยู่ออกเป็น 3 กลุ่ม คือ ไอโซฟลาโวน (isoflavone) ไอโซฟลาวาโนน (isoflavanone) และไอโซฟลาแวน (isoflavan) ซึ่งมีความหลากหลายของหมู่แทนที่ในตำแหน่งต่างๆ บนโครงสร้าง ทำให้เกิดแนวคิดในการศึกษาความสัมพันธ์ของโครงสร้างทางเคมีและฤทธิ์ที่ศึกษา (structure activity relationship หรือ SAR) การวิเคราะห์ SAR ของฤทธิ์ต้านออกซิเดชันโดยใช้ผลการวัดค่าฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ โดยพิจารณาจากทั้งหมู่แทนที่ของ ไอโซฟลาโวนอยด์ระหว่างกลุ่มที่มีรูปแบบหมู่แทนที่แบบเดียวกัน และระหว่างกลุ่มของ ไอโซฟลาโวนอยด์ที่มีหมู่แทนที่รูปแบบที่แตกต่างกัน ผลการเปรียบเทียบวิเคราะห์ระหว่างกลุ่มของไอโซฟลาโวนอยด์ แสดงให้เห็นว่าไอโซฟลาโวนมีฤทธิ์ต้านออกซิเดชันสูงสุดในทั้ง 3 วิธีวิเคราะห์ ในการวิเคราะห์ระหว่างกลุ่มไอโซฟลาโวนอยด์ พบว่าจากโครงสร้างพื้นฐานที่มีหมู่ R7-OH ของวงแหวน A และ R4′-OH (หรือ -OMe) ของวงแหวน B หากมีการเพิ่มขึ้นของหมู่ ไฮดรอกซิล (-OH) ของวงแหวน B ที่ตำแหน่ง R3′ หรือ R5′ จะสามารถเพิ่มฤทธิ์การต้านออกซิเดชันของไอโซฟลาโวนอยด์ในทุกกลุ่ม ในขณะที่ตำแหน่งของหมู่แทนที่ไฮดรอกซิลและหมู่แทนที่เมทิล (-OMe) ในตำแหน่งอื่นๆ จะพบว่ามีผลต่อฤทธิ์การต้านออกซิเดชันขึ้นกับวิธีการวิเคราะห์ที่แตกต่างกัน ดังนั้นจากความหลากหลายของโครงสร้างของไอโซฟลาโวนอยด์ จาก D. parviflora ในการทดลองนี้จึงเป็นรายงานแรกที่มีการชี้ชัดให้เห็นถึงรายละเอียดของความสัมพันธ์ของโครงสร้างทางเคมีกับฤทธิ์ต้านออกซิเดชันของสารประกอบไอโซฟลาโวนอยด์ สำหรับการศึกษาผลต่อการสังเคราะห์เมลานินของสารพฤกษเคมีจากแก่นครี้ เบื้องต้นพบว่ามีสารประกอบไอโซฟลาโวนอยด์บางชนิดที่มีฤทธิ์กระตุ้นการสังเคราะห์เมลานินในเซลล์ ทั้งนี้จะทำการศึกษาเพื่อยืนยันและขยายผลต่อไปในอนาคต คำสำคัญ : ไอโซฟลาโวนอยด์, สารต้านอนุมูลอิสระ, แก่นครี้, เมลานิน
ความคิดเห็น