ผู้วิจัย

สมหมาย ปะติตังโข และคณะ

บทคัดย่อ

ไซเดอโรฟอร์หมายถึงสารชีวภาพ (ทำหน้าที่เป็นตัวพาเหล็ก) ที่ได้จากแบคทีเรีย รา และพืชบางชนิด แล้วนำไปใช้ประโยชน์ในการเป็นยารักษาโรค ด้านการเกษตร และอื่นๆ การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อคัดแยกแบคทีเรียจากดินปากปล่องและดินจอมปลวกภูเขาไฟวนอุทยาน เขากระโดงที่สามารถผลิตไซเดอโรฟอร์ได้ มาเลี้ยงในอาหารเหลวที่มีปริมาณของเหล็กต่ำ SA แล้วแยกชนิดของไซเดอโรฟอร์ด้วยเทคนิค CAS ทดสอบฤทธิ์ทางชีวภาพของ ไซเดอโรฟอร์ ต้านเชื้อราก่อโรคของหอมแดง และกระเทียม ผลิตปุ๋ยอินทรีย์สูตรพิเศษผสม ไซเดอโรฟอร์ ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตปุ๋ยอินทรีย์สูตรพิเศษผสมไซเดอโรฟอร์ให้กับชุมชน เพื่อลดต้นทุนการผลิตหอมแดงและกระเทียม ผลการวิจัยพบว่า เมื่อนำดินปากปล่อง และ ดินจอมปลวกบนภูเขาไฟมาลงในอาหาร 4 ชนิด คือ Plate Count Agar, Brain Heart Infusion Agar (BHIA), Nutrient Agar (NA) และ Soil Extract Agar (SEA) มีแบคทีเรียมากมายหลายลักษณะ แต่คัดแยกมาศึกษา 96 ไอโซเลต เพื่อทดสอบความสามารถในการผลิตไซเดอโรฟอร์ด้วยเทคนิค CAS พบว่า มีแบคทีเรีย 81 ไอโซเลต ที่ผลิตไซเดอโรฟอร์ได้ โดยสังเกตจากการเปลี่ยนสีของตัวชี้วัดจากสีน้ำเงินเป็นสีส้ม แล้วเลือกอย่างเจาะจงมา 5 ไอโซเลต คือ MHB12, MHB13, MHB14, VMBH17 และVMBH18 เพื่อผลิตไซเดอโรฟอร์เพิ่มขึ้นในอาหารเหลว SA ส่วนชนิดของไซเดอโรฟอร์จากแบคทีเรีย MHB12, MHB13 และ MHB14 เป็นชนิดแคทีคอล สำหรับไซเดอโรฟอร์ที่ผลิตจาก VMBH17 และ VMBH18 เป็นชนิดไฮดรอกซาเมท ไซเดอโรฟอร์ทั้งสองชนิดสามารถออกฤทธิ์ต้านเชื้อรา Aspergillus niger, Aspergillus porri, Botryotinia squamosa, Colletotrichum circinans และ Sclerotinia sclerotiorum ได้ดีที่สัดส่วนความเข้มข้น 0.25 กรัม/มิลลิลิตร เมื่อนำไปผสมปุ๋ยอินทรีย์แล้วทดสอบกับแปลงทดลอง พบว่า นอกจากไซเดอโรฟอร์เหล่านี้จะต้านเชื้อราก่อโรคได้แล้ว ยังส่งเสริมการเจริญเติบโตของหอมแดง และกระเทียมได้ดีอีกด้วย จากนั้นคณะผู้วิจัยได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตปุ๋ยอินทรีย์สูตรพิเศษผสมไซเดอโรฟอร์ให้กับชุมชน เพื่อลดต้นทุนการผลิตหอมแดง และกระเทียมให้กับเกษตรกรปลูกหอมแดง

ความคิดเห็น