ในปีการศึกษาที่ผ่านมา สาขาวิชาฟิสิกส์ได้จัด
โครงการนวัตกรรมการเรียนการสอน งานวิจัย และการศึกษาปัญหาพิเศษ
นักศึกษาสาขาวิชาฟิสิกส์
วันเสาร์ ที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2566
ณ หอประชุมศิวาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์

โดยในงานเป็นการนำเสนอวิจัยในรูปแบบโปสเตอร์ ของนักศึกษา ชั้นปีที่ 4 หลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต
ภายในงานประกอบด้วย งานวิจัยหลากหลายแขนง
เช่น การศึกษาฟิสิกส์ วิทยาศาสตร์ นาโนเทคโนโลยี วัสดุศาสตร์ ดาราศาสตร์
โดยนักศึกษาได้จัดทำและนำเสนอในรูปแบบโปสเตอร์ และการบรรยาย
อีกทั้งยังได้เปิดโอกาสให้นักศึกษา ชั้นปีที่ 3 ได้เข้าร่วมชมเพื่อเป็นแนวทาง
และสร้างความสนใจ ในการศึกษาวิจัยในปีการศึกษาหน้าด้วย

ในการนี้ได้มีบทบาทเป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ที่นอกเหนือจากได้ให้คำปรึกษาด้านการวิจัย
ยังได้ให้การปรึกษาในการจัดทำโปสเตอร์เพื่อประโยชน์ของนักศึกษาในการเผยแพร่ด้วย
ซึ่งรู้สึกว่าบทบาทมากพอสมควรในการช่วยให้นักศึกษามองภาพใหญ่ให้ออก
และสามารถจัดทำโปสเตอร์โดยใช้เวลาน้อย เท่าที่จำเป็น
จึงอยากจะแชร์แนวคิดของการให้คำปรึกษาค่ะ

หากเคยได้ผ่านการจัดทำโปสเตอร์ ทุกท่านจะทราบว่าการพยายามเขียนให้ได้เนื้อหาครบถ้วน
จากรูปเล่มวิจัยเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก เพราะขนาดโปสเตอร์มีจำกัด
และไม่สามารถทำให้ตัวอักษรเล็กเกินจนอ่านไม่สะดวกได้
รวมถึงต้องมีช่องว่างเพื่อไม่ให้ดูอัดแน่นเกินไปด้วย จะได้ดูน่าอ่านขึ้น

การจัดทำโปสเตอร์จึงดำเนินการตามขั้นตอน ดังนี้

  1. โฟกัสเนื้อหาเป็นหลัก แน่นอนว่าขั้นตอนแรกไม่ได้เริ่มจากการเลือกธีม หรือเลือกสี เพราะจะยิ่งทำให้เราใช้พลังงานเยอะ การเริ่มจากเนื้อหาที่เราต้องการใส่ลงในดปสเตอร์จึงสำคัญเป็นอันดับแรก ด้วยพื้นที่ที่จำกัด ในขั้นตอนนี้ได้แนะนำให้นักศึกษาเขียนเนื้อหาลงในไฟล์เปล่าๆ ก่อน โดยยังไม่ต้องจัดรูปแบบ
    จุดนี้เราต้องเคลียร์ว่า เราจะนำเสนอวัตถุประสงค์ของการวิจัย แล้วพยายามตัดเนื้อหาที่เยิ่นเย้อ ออกให้มากที่สุด
  2. เลือกเทมเพลต บางงานประชุมวิชาการจะมีเทมเพลตที่แน่นอนให้ ก็สามารถใช้ตามนั้นได้ แต่หากไม่มีมาให้ ให้สืบค้นและเลือกเทมเพลตที่แน่นอนที่เราจะใช้ก่อน โดยปกติการนำเสนอในรูปแบบโปสเตอร์จะประกอบด้วยหัวข้อ บทคัดย่อ ที่มาและความสำคัญ วัตถุประสงค์ วิธีการดำเนินการวิจัย ผลการวิจัย สรุปและอภิปรายผล และเอกสารอ้างอิง
    ในขั้นตอนนี้สามารถกำหนดช่องและขนาดของช่องให้เรียบร้อย อาจจะใช้โปรแกรมที่ถนัดได้ โดยนักศึกษาในที่ปรึกษาได้ใช้ทั้ง power point และ photoshop
  3. ลองวางเนื้อหาตามที่วางแผนไว้ กำหนดขนาดตัวอักษรในระดับที่สามารถอ่านได้ง่าย อยู่ที่ 28 – 32 pt สามารถเปลี่ยนแปลงจากนี้ได้แล้วแต่ดุลยพินิจ
  4. เลือกใช้ภาพประกอบ ส่วนตัวจะแนะนำนักศึกษาเสมอว่าให้ใช้ภาพถ่ายที่เราได้จากการวิจัยจริง ประเด็นหนึ่งคือเพื่อไม่ให้ละเมิดลิขสิทธิ์ผู้อื่น และทำให้งานมีเอกลักษณ์ มีคุณค่ามากขึ้น
  5. เลือกธีมสี เมื่อลองวางภาพประกอบแล้ว สามารถดูตามภาพรวมได้ว่าสีส่วนใหญ่ในภาพคือสีอะไร ถ้าจะให้ง่ายที่สุดให้ใช้สีนั้นๆ หรือใช้สีที่มีความเป็นวิชาการ เช่น สีกรมท่า สีเทา เป็นส่วนประกอบ ในจุดนี้สามารถสืบค้นดู colour pattern เพิ่มเติมได้
  6. มองภาพรวม หลังจากเพิ่มเนื้อหาและรูปภาพไปแล้ว ให้มองถอยออกมาดูภาพรวม ว่าเราไม่ได้ใส่เนื้อหาหรือรูปภาพให้หนักช่วงใดช่วงหนึ่งมากเกินไป เน้นการที่อ่านสะดวก และมองเข้ามาก็พอจะทราบคร่าวๆ ว่าทำการวิจัยเกี่ยวกับอะไร

ภาพด้านล่างเป็นตัวอย่างโปสเตอร์ที่ได้มีโอกาสให้คำแนะนำนักศึกษา

ส่วนตัวที่ได้มีบทบาทการเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาในงานนี้ พบว่า หลังจากที่ได้บรีฟตามที่ได้กล่าวมาข้างต้นแล้ว โปสเตอร์ที่นักศึกษาส่งมา ไม่ต้องปรับแก้มากนัก และอยู่ในระดับที่พึงพอใจ เพราะเข้าใจตรงกันว่า ประเด็นหลักของงานวิจัยต้องการจะนำเสนออะไร ตลอดจนเรื่องของรูปแบบ สี รูปภาพ นักศึกษาเลือกมาได้ดี นอกจากนี้ยังพบว่า นักศึกษาทั้ง 2 กลุ่มอยากจะปรับปรุงงานตัวเอง โดยการเพิ่ม infograhphic เพื่อลดจำนวนตัวหนังสือ ซึ่งจุดนี้นักศึกษาเขาได้สืบค้นและแลกเปลี่ยนกันเอง

ส่วนตัวมุ่งมั่นที่จะสอนให้นักศึกษาจับประเด็นหลักของงานให้ได้ มอง core value ให้ออก เพื่อลดเวลาและพลังงานในการคิดในการออกแบบ โดยใช้เวลาเท่าที่จำเป็น นอกจากที่จะสอนหรือให้คำปรึกษาด้านวิชาการแล้ว การจัดการ organised งานต่างๆ ยังเป็นสิ่งจำเป็นที่จะให้นักศึกษาได้เรียนรู้จากอาจารย์ด้วย เพราะสิ่งนี้จะเป็นทักษะที่ติดตัวเขาสำหรับการทำงานในอนาคต

นักศึกษา ชั้นปีที่ 4 ในที่ปรึกษา
นายศิกษก เดินรีบรัมย์
นางสาวเยาวรินทร์ แก้วอำไพ
นายธวัชชัย เจริญคาวี
นายภูชิสส์ จันทรคาต

ความคิดเห็น