ผู้วิจัย

รัตนาภรณ์ สมฤทธิ์, วรุตม์ คุณสุทธิ์, ธีระวิทย์ พลโคกก่อง, ปัฐพงศ์ เทียมตรี, สุวนันท์ โสมะมี, เสาวณีย์ สายบุตร

บทคัดย่อ

ซิงค์ออกไซด์เป็นวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีความสามารถในการยับยั้งจุลินทรีย์ได้หลายชนิด การสังเคราะห์ซิงค์ออกไซด์ให้มีโครงสร้างในระดับนาโนสามารถช่วยเพิ่มศักยภาพในการใช้ประโยชน์ ในการศึกษานี้ได้สังเคราะห์นาโนซิงค์ออกไซด์ด้วยวิธีโซลเจล โดยใช้อุณหภูมิการเผาที่ 300, 500 และ 700 องศาเซลเซียส งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของอุณหภูมิการเผาต่อคุณสมบัติทางเคมีกายภาพของนาโนซิงค์ออกไซด์ และความสามารถของสารดังกล่าวในการยับยั้งเชื้อรา Aecidium mori (Barclay) Barclay ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคราสนิมในหม่อน การศึกษาและวิเคราะห์คุณสมบัติของนาโนซิงค์ออกไซด์ใช้เทคนิคการเลี้ยวเบนรังสีเอกซ์ (XRD) การวิเคราะห์ธาตุเชิงพลังงานของรังสีเอกซ์ (EDS) กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องกราดชนิดฟิลด์อีมิสชัน (FESEM) เทคนิคฟูเรียร์ทรานฟอร์มอินฟราเรดสเปกโทรสโกปี (FTIR) และการวิเคราะห์พื้นที่ผิวจำเพาะตามวิธีการของ Brunauer-Emmett-Teller (BET) ส่วนการศึกษาความสามารถในการยับยั้งเชื้อราใช้วิธี poisoned food technique จากการทดลองพบว่าอนุภาคซิงค์ออกไซด์ที่สังเคราะห์ขึ้นมีโครงสร้างผลึกแบบเฮกซะโกนอลเวิร์ทไซท์ ขนาดอนุภาคอยู่ในระดับนาโน มีพื้นที่ผิวจำเพาะ 6.381-16.487 ตารางเมตรต่อกรัม และมีความสามารถในการยับยั้งเชื้อรา โดยนาโนซิงค์ออกไซด์ที่สังเคราะห์ที่อุณหภูมิการเผา 300 องศาเซลเซียส ที่มีความเข้มข้น 3,000 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตรในอาหารเลี้ยงเชื้อ potato dextrose agar มีความสามารถในการยับยั้งเชื้อราสูงที่สุด นอกจากนี้ยังพบว่า นาโนซิงค์ออกไซด์ที่สังเคราะห์ที่อุณหภูมิการเผาที่ต่างกันมีขนาดอนุภาค พื้นที่ผิวจำเพาะ และความสามารถในการยับยั้งเชื้อราที่แตกต่างกัน

ความคิดเห็น