1) แรงเสริมบวก (Positive Reinforcement) หมายถึง การให้สิ่งเสริมแรงที่อินทรีย์ (Organism) ชอบตอบสนองหลังอินทรีย์กระทำพฤติกรรมที่พึงประสงค์ เช่น ให้รางวัลกับนักเรียนที่ทำคะแนนสอบได้สูงสุด ชมเชยนักเรียนที่แต่งกายเรียบร้อย เป็นต้น
2) แรงเสริมลบ (Negative Reinforcement) หมายถึง การถอดถอนสิ่งเสริมแรงที่อินทรีย์ชอบหลังอินทรีย์ (Organism) กระทำพฤติกรรมที่พึงประสงค์ หรือ การเปลี่ยนสภาพการณ์หรือเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมบางอย่างก็อาจจะทำให้อินทรีย์ (Organism) แสดงพฤติกรรมได้ เช่น นักเรียนที่ชอบคุยและแหย่เพื่อนเวลาให้ทำงาน จึงถูกครูจับไปนั่งเดี่ยวที่มุมห้องและต้องนั่งทำงานคนเดียว หลังจากที่นักเรียนตั้งใจทำงานครูก็อนุญาตให้กลับมานั่งที่ตามเดิมของตนรวมกับเพื่อนๆ ได้ เป็นต้น
สกินเนอร์เห็นความสำคัญของการให้แรงเสริมมาก จึงได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับกับการให้แรงเสริมไว้อย่างละเอียด ในด้านการเสริมแรงนั้น สกินเนอร์ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยได้แยกวิธีการเสริมแรงออกเป็น 2 วิธี คือ การให้แรงเสริมทุกครั้ง (Continuous Reinforcement) เป็นการให้แรงเสริมทุกครั้งที่ผู้เรียนแสดงพฤติกรรมที่พึงประสงค์ตามที่กำหนดไว้ และการให้แรงเสริมเป็นครั้งคราว (Partial Reinforcement) คือไม่ต้องให้แรงเสริมทุกครั้งที่ผู้เรียนแสดงพฤติกรรมที่พึงประสงค์
สกินเนอร์พบว่าการให้แรงเสริมทุกครั้งแม้ว่าจะช่วยในระยะแรกของการเรียนรู้แบบการวางเงื่อนไขแบบโอเปอแรนต์ แต่ไม่มีประสิทธิภาพดีเท่ากับการให้แรงเสริมเป็นครั้งคราว จึงได้ทำการวิจัย โดยสามารถแบ่งการให้แรงเสริมเป็นครั้งคราวออกเป็น 4 ประเภทคือ
- การให้แรงเสริมตามช่วงเวลาที่แน่นอน (Fixed Interval : FI)
- การให้แรงเสริมตามช่วงเวลาที่ไม่แน่นอน (Variable Interval : VI)
- การให้แรงเสริมตามอัตราส่วนที่แน่นอนหรือคงที่ (Fixed Ratio : FR)
- การให้แรงเสริมตามอัตราส่วนที่ไม่แน่นอน (Variable Ratio : VR)
ตัวอย่างการแรงเสริมเป็นครั้งคราว ปรากฏตามตารางดังนี้
ประเภทของการให้แรงเสริม | ความหมาย | ตัวอย่างในชีวิตประจำวัน |
1. การให้แรงเสริมตามช่วงเวลาที่แน่นอน (Fixed Interval : FI)
|
การกำหนดแรงเสริมในช่วงเวลาที่แน่นอน โดยที่อินทรีย์รู้เวลาการเสริมแรงอย่างชัดเจนว่าจะได้รับสิ่งเสริมแรง | โปรโมชั่น 11.11 ของ Lazada หรือ Shopee , การให้ของขวัญปีใหม่ในงานปีใหม่ , เป็นต้น |
2. การให้แรงเสริมตามช่วงเวลาที่ไม่แน่นอน (Variable Interval : VI) | แรงเสริมตามกำหนดช่วงเวลาที่แปรเปลี่ยนไป โดยที่อินทรีย์ไม่รู้ตัวว่าเวลาไหนจะได้รับสิ่งเสริมแรง | แจกรางวัล 3 รางวัลสำหรับผู้เรียนที่ตั้งใจเรียนในคาบในนาทีที่ 5 , 35 ,55หรือการสอบย่อยที่ไม่ได้บอกล่วงหน้า
, โปรโมชั่นลดราคานาทีทอง |
3. การให้แรงเสริมตามอัตราส่วนที่แน่นอนหรือคงที่ (Fixed Ratio)
|
เมื่ออินทรีย์มีพฤติกรรมที่พึงประสงค์ตามจำนวนที่ต้องการแน่นอน ก็ให้สิ่งเสริมแรงเป็นการตอบสนอง | การให้รางวัลนักเรียนที่สอบเข้าเข้ามหาวิทยาลัยได้ทุกปีการศึกษา , โปรโมชั่นซื้อ 1 แถม 1 ของ Pizza Company , มา 3 จ่าย 2 ของ Hot Pot , คูปอง 10 แก้ว ฟรี 1 ของร้านกาแฟ |
4. การให้แรงเสริมตามอัตราส่วนที่ไม่แน่นอน (Variable Ratio : VR)
|
เมื่ออินทรีย์มีพฤติกรรมที่พึงประสงค์ตามจำนวนที่ไม่แน่นอน ก็ให้สิ่งเสริมแรงเป็นการตอบสนอง ซึ่งอินทรีย์จะไม่รู้ว่าจะถูกเสริมแรงเมื่อไหร่ | การยกมือตอบคำถามในห้องเรียน , การให้คำชมเชยเมื่อเห็นว่าทำได้ดีพอสมควรโดยดูตามความเหมาะสมของครู ตามวาระโอกาส , การส่งคำตอบชิงโชคในเกมตอบคำถาม , การซื้อ
ล็อตเตอรี่ เป็นต้น |
ขอยกตัวอย่างสถานการณ์จริงในการเสริมแรมตามช่วงเวลาที่ไม่แน่นอนเป็นกรณีศึกษาของรายการวิทยุหนึ่ง
เป้าหมาย คือ อยากให้คนฟังรายการตลอด
เทคนิคและกลยุทธ์ : ใช้การเสริมแรงแบบตามช่วงเวลาที่ไม่แน่นอน โดยให้ผู้ฟังทางบ้านตอบคำถามจากโจทย์ที่รายการให้ 3 คำถามซึ่งเป็นคำถามที่ต่อเนื่องกัน ซึ่งจะปล่อยคำถาม 3 ข้อนี้ในรายการวิทยุตั้งแต่เวลา 09.00 – 19.00 น. โดยไม่บอกว่าโจทย์คำถามเวลาไหน (บอกแค่ช่วงเวลา) ผู้ฟังที่จะตอบคำถามนี้ได้ต้องฟังคำถามครบทั้ง 3 ข้อเท่านั้นจึงจะรู้ว่าตำตอบที่ถูกคืออะไร ทำให้ผู้ฟังต้องเฝ้าฟังรายการตลอดทั้งวัน
รางวัลที่ได้รับ : ตั๋วเครื่องบินไปชมฟุตบอลโลก 2 รางวัล (สิ่งเสริมแรงดีจึงได้ผลดี)
แรงเสริมแต่ละวิธีให้ผลต่อการแสดงพฤติกรรมที่ต่างกัน และพบว่า แรงเสริมตามอัตราส่วนที่ไม่แน่นอนจะให้ผลดีในด้านที่พฤติกรรมที่พึงประสงค์จะเกิดขึ้นในอัตราสูงมาก และเกิดขึ้นต่อไปอีกเป็นเวลานานหลังจากที่ไม่ได้รับแรงเสริม
จากการศึกษาและทดลองของสกินเนอร์นั้น สามารถสรุปเป็นลักษณะ และทฤษฎีการเรียนรู้ของทฤษฎีการวางเงื่อนไขแบบการกระทำได้ดังนี้
ลักษณะของทฤษฎี
1) การตอบสนองเกิดจากอินทรีย์เป็นผู้กระทำขึ้นเอง (Operant Behavior)
2) การตอบสนองเกิดขึ้นโดยตั้งใจหรือจงใจ (Voluntary Response)
3) ให้แรงเสริมหลังจากที่มีการตอบสนองขึ้นแล้ว
4) ถือว่ารางวัลหรือแรงเสริมมีความจำเป็นมากต่อการวางเงื่อนไขซึ่งเป็นไปตามกฎแห่งความพอใจ (Law of Effect)
5) ผู้เรียนต้องทำอะไรอย่างหนึ่งอย่างใด จึงจะได้รับแรงเสริม
6) เป็นการเรียนรู้ที่เกี่ยวกับกับการตอบสนองของกระบวนการทางสมองที่สูงกว่า อันมีระบบประสาทกลางเข้าไปเกี่ยวกับข้อง
สรุปทฤษฎีการเรียนรู้ (ทิศนา แขมมณี, 2548)
1) การกระทำใดๆ ถ้าได้รับแรงเสริม จะมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นอีก ส่วนการกระทำที่ไม่มีการแรงเสริม แนวโน้มที่ความถี่ของการกระทำนั้นจะลดลงและหายไปในที่สุด
2) แรงเสริมที่แปรเปลี่ยนทำให้การตอบสนองคงทนกว่าแรงเสริมที่ตายตัว
3) การลงโทษทำให้เรียนรู้ได้เร็วและลืมเร็ว
4) การให้แรงเสริมหรือให้รางวัลเมื่ออินทรีย์กระทำพฤติกรรมที่ต้องการ สามารถช่วยปรับหรือปลูกฝังนิสัยที่ต้องการได้
การนำไปประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอน
1) ในการสอนการให้แรงเสริมหลังการตอบสนองที่เหมาะสมของเด็กจะช่วยเพิ่มอัตราการตอบสนองที่เหมาะสมนั้น
2) การเว้นระยะแรงเสริมอย่างไม่เป็นระบบ หรือเปลี่ยนรูปแบบการเสริมแรงจะช่วยให้การตอบสนองของผู้เรียนคงทนถาวร
3) การลงโทษที่รุนแรงเกินไป มีผลเสียมาก ผู้เรียนอาจไม่ได้เรียนรู้หรือจำสิ่งที่เรียนรู้ไม่ได้ ควรใช้วิธีการงดแรงเสริมเมื่อผู้เรียนมีพฤติกรรมไม่พึงประสงค์
4) หากต้องการเปลี่ยนพฤติกรรม หรือปลูกฝังนิสัยให้แก่ผู้เรียน ควรแยกแยะขั้นตอนของปฏิกิริยาตอบสนองออกเป็นลำดับขั้น โดยพิจารณาให้เหมาะสมกับความสามารถของผู้เรียน และจึงพิจารณาแรงเสริมที่จะให้แก่ผู้เรียน
นอกจากนี้การนำทฤษฎีนี้ไปประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอนนั้น มีแนวคิดที่สำคัญ คือ การตั้งจุดมุ่งหมายเชิงพฤติกรรมคือจะต้องตั้งจุดมุ่งหมายไปในรูปของพฤติกรรมที่สังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนสำหรับในห้องเรียนนั้น และแรงเสริมที่มีความสำคัญอย่างยิ่งก็ คือ แรงเสริมทุติยภูมิ ซึ่งได้แก่ การแสดงสีหน้ายิ้มแย้ม การชมเชยจากผู้สอน คะแนนความรู้สึกที่ได้รับ ความสำเร็จและโอกาสที่ได้ทำในสิ่งที่ต้องการ เป็นต้น ในการเรียนการสอนผู้สอนจะต้องให้แรงเสริมเหล่านี้อย่างเหมาะสมการจัดสถานการณ์เพื่อให้ผู้เรียนได้ผลตอบแทนที่พึงประสงค์ เช่น การเคี้ยวหมากฝรั่งแทนการติดบุหรี่ การจัดโปรแกรมการเรียนการสอนแบบสำเร็จรูป สกินเนอร์เชื่อว่าผลสัมฤทธิ์ในการเรียนรู้ของแต่ละคนไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับ
1) ความสามารถของแต่ละบุคคล
2) โอกาสในการฝึกฝนของแต่ละคน
3) แรงจูงใจ (รางวัลหรือสิ่งสนับสนุนรวมทั้งกำลังใจ) ซึ่งจำเป็นในการเพิ่มประสิทธิภาพของการเรียนรู้ ส่วนการลงโทษจะให้ผลตรงข้าม
4) บุคคลเคยมีประสบการณ์ในการเผชิญกับปัญหาที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันมาก่อนก็จะสามารถแก้ปัญหาได้ง่าย กว่าการแก้ปัญหาใหม่
5) การถ่ายทอดการเรียนรู้ที่ดี จะช่วยให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจสิ่งที่ต้องเรียนรู้ได้ดี
การลงโทษ (Punishment)
การลงโทษ คือ การให้ผลกรรมหลังจากการแสดงพฤติกรรมทำให้พฤติกรรมนั้นลดลงหรือยุติลง ซึ่งผลกรรมที่เกิดขึ้นนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งที่ไม่พึงพอใจ แต่เป็นอะไรก็ได้ที่ตามหลังพฤติกรรมนั้นแล้วทำให้พฤติกรรมนั้นลดลง ดังนั้นความหมายของการลงโทษจึงต้องประกอบด้วย 3 เงื่อนไขดังต่อไปนี้ (Cooper et al., 1987) คือ
1.พฤติกรรมเป้าหมายเกิดขึ้น
2.พฤติกรรมเป้าหมายนั้นจะต้องตามด้วยผลกรรมบางอย่าง
3.โอกาสการเกิดพฤติกรรมเป้าหมายนั้นลดลง เนื่องจากผลกรรมดังกล่าวเกิดขึ้น
ซึ่งการที่จะกำหนดว่าผลกรรมใดเป็นตัวลงโทษนั้นจะต้องดูที่ผลกรรมนั้นต่อพฤติกรรมเป้าหมาย นั่นคือถ้าผลกรรมนั้นทำให้พฤติกรรมเป้หมายนั้นลดลงหรือยุติลง ผลกรรมนั้นจึงจะเรียกว่าการลงโทษ สกินเนอร์ไม่เห็นด้วยกับการลงโทษเพื่อยุติพฤติกรรม เนื่องจากความไม่มีประสิทธิภาพของการลงโทษในระยะยาว ทั้งนี้เพราะการลงโทษเป็นการระงับพฤติกรรมเพียงชั่วคราวเท่านั้นเอง
การดำเนินการลงโทษนั้นมีเทคนิคและวิธีการลงโทษอยู่ด้วยกันหลายวิธี ได้แก่
1.การลงโทษโดยการให้มีความเจ็บปวดทางร่างกาย (Physical pain)
2.การตำหนิ (Reprimands)
3.การใช้เวลานอก (Time Out)
4.การปรับสินไหม (Response Cost)
5.การแก้ไขให้ถูกต้องเกินกว่าที่ทำผิด (Overcorrection)
การลงโทษมี 2 ประเภท คือ การลงโทษทางบวกและการลงโทษ (Prince, 2014)
1.การลงโทษทางบวก คือ การให้สิ่งเร้าที่อินทรีย์ (Organism) ไม่ชอบ ไม่พอใจเพื่อยุติหรือลดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ เช่น
– นักศึกษาคุยกันในระหว่างเรียน ครูจึงตะโกนด่าต่อหน้าเพื่อนร่วมชั้น
– เด็กสัมผัสเตาที่ร้อน และกระตุกมือออกมาเพราะความเจ็บปวด
– ตำรวจให้ใบสั่งหลังจากที่ คนขับรถไม่สวมหมวกนิรภัย
2.การลงโทษทางลบ คือ การถอดถอนสิ่งเร้าที่อินทรีย์ (Organism) ชอบ พอใจ เพื่อยุติหรือลดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ เช่น
– เด็กแกล้งเพื่อนในชั้นเรียน จึงถูกงดการไปทัศนศึกษา
– นักเรียนคุยกันในชั้นเรียน จึงถูกยึดสติ๊กเกอร์ดาวที่ครูเคยให้ไว้ (สติ๊กเกอร์ดาวสามารถแลกเป็นคะแนนได้ภายหลัง)
– นักศึกษาใช้โทรศัพท์ถือในระหว่างการเรียนการสอน จึงถูกยึดโทษศัพท์มือถือ
– ตำรวจยึดใบขับขี่ เพื่อทำการจับปรับ เพราะไม่สวมหมวกนิรภัย
ตารางการเสริมแรงและการลงโทษ
ภาพการแสดงความหมายของการเสริมแรงและการลงโทษเพื่อให้เห็นถึงความสัมพันธ์และการเข้าใจที่ง่ายขึ้น
จากตารางการเสริมแรงและการลงโทษ สามารถสรุปได้ดังนี้
1) แรงเสริมบวก (Positive Reinforcement) หมายถึง การให้สิ่งเสริมแรงที่อินทรีย์ (Organism) ชอบตอบสนองหลังอินทรีย์กระทำพฤติกรรมที่พึงประสงค์
2) แรงเสริมลบ (Negative Reinforcement) หมายถึง การถอดถอนสิ่งเสริมแรงที่อินทรีย์ชอบหลังอินทรีย์ (Organism) กระทำพฤติกรรมที่พึงประสงค์ หรือ การเปลี่ยนสภาพการณ์หรือเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมบางอย่างก็อาจจะทำให้อินทรีย์ (Organism) แสดงพฤติกรรมได้
3) การลงโทษทางบวก คือ การให้สิ่งเร้าที่อินทรีย์ (Organism) ไม่ชอบ ไม่พอใจเพื่อยุติหรือลดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์
4) การลงโทษทางลบ คือ การถอดถอนสิ่งเร้าที่อินทรีย์ (Organism) ชอบ พอใจ เพื่อยุติหรือลดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์
ข้อควรจำแนกว่าอะไรคือ ทางบวก อะไรคือทางลบ อาจมีวิธีจำดังนี้
- บวก คือ การให้ , การเพิ่ม
- ลบ คือ การเอาออก , การยึด , การตัดสิทธิ์ , การถอดถอน
การหยุดยั้งพฤติกรรม (Extinction)
การหยุดยั้งพฤติกรรม คือการที่ทำให้พฤติกรรมที่เคยได้รับการเสริมแรง แล้วไม่ได้รับการเสริมแรงซึ่งผลจากการใช้การหยุดยั้งนั้น พฤติกรรมที่ถูกหยุดยั้งก็จะค่อยๆ ลดลง และหายไปในที่สุด อย่างเช่น กรณีที่เด็กร้องไห้โยเย เพราะต้องการขนม คุณแม่ก็ให้ขนมเป็นประจำ ต่อมาคุณแม่ทนไม่ไหวจึงยุติการให้ขนม (หยุดให้การเสริมแรง) เท่ากับว่าคุณแม่ใช้การหยุดยั้ง ผลที่ตามมาคือพฤติกรรมร้องไห้โยเยของลูกเริ่มลดลง
ความคิดเห็น