งานอนามัยชุมชนเป็นงานที่ดูแลสุขภาวะของคนในชุมชนและการควบคุมดูแลด้านสิ่งแวดล้อมให้มีความปกติและยั่งยืน เป็นงานที่มีความสำคัญสามารถช่วยพัฒนาประเทศ ในปัจจุบันพบว่าประเทศไทยมีปัญหาอนามัยชุมชนในหลายด้าน เช่น ปัญหาโครงสร้างประชากรผู้สูงอายุ ปัญหาเกี่ยวกับแม่และเด็ก ปัญหาด้านการสุขาภิบาลอาหาร และปัญหาทางด้านมลพิษต่าง ๆ เป็นต้น สำหรับปัญหาทางด้านการสุขาภิบาลอาหารเป็นปัญหาที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งเนื่องจากส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน ทั้งนี้ จากข้อมูลของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่าคนไทยเจ็บป่วยด้วยโรคอาหารเป็นพิษในระหว่างวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2561 ถึงวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ.2561 มีจำนวนถึง 74,980 ราย โดยพบมากที่สุดในกลุ่มอายุ 15-24 ปี รองลงมาคืออายุ 25-34 ปี และ 45-54 ปี ตามลำดับ โดยส่วนใหญ่พบว่าเป็นผู้ป่วยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, 2561) สำหรับในพื้นที่บ้านโนนสมบูรณ์ หมู่ที่ 11 ตำบลหนองตาด อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ ประชาชนมีการพึ่งพาตนเองในหลายด้านและมีประชาชนเข้าไปศึกษาชุมชนโนนสมบูรณ์ในด้านต่างๆ เช่น การดูงานวิสาหกิจชุมชน โรงสี ผักปลอดสารพิษ หมูหลุม ผลิตน้ำดื่ม และ“ไข่เค็ม” อาหารท้องถิ่นขึ้นชื่อของหมู่บ้าน ซึ่งผู้นำชุมชนและทุกภาคส่วนได้ให้ความสำคัญในการส่งเสริมให้มีการผลิต การจำหน่ายและการประชาสัมพันธ์ในงานจำหน่ายสินค้า OTOP โดยอาหารดังกล่าวมีความน่าสนใจทำให้ทางนักศึกษาสาขาวิชาสาธารณสุขชุมชน ชั้นปีที่ 3 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ซึ่งมีการเรียนการสอนในรายวิชาอนามัยชุมชน รหัสวิชา 4073304  โดยรายวิชาดังกล่าวได้มีหัวข้อปัญหาพื้นฐานอนามัยชุมชน ด้านปัญหาการสุขาภิบาลอาหาร และแนวทางการแก้ไขปัญหาด้านสุขาภิบาลอาหาร ทางอาจารย์ผู้สอนจึงจัดการเรียนการสอนที่มีการบูรณาการ การเรียนการสอน การบริการวิชาการ การวิจัย และการทำนุศิลปวัฒนธรรม ทางด้านอาหาร “ไข่เค็ม” ในพื้นที่หมู่บ้านโนนสมบูรณ์ จึงประสานงานกับชุมชน จัดกิจกรรมบริการวิชาการการให้ความรู้สุขาภิบาลอาหาร การตรวจวิเคราะห์คุณภาพอาหารทางด้านกายภาพ เคมี และชีวภาพ ของร้านจำหน่ายอาหารในชุมชน การแจ้งผลการตรวจวิเคราะห์ให้ชุมชนทราบ และการจัดประกวดการแข่งขันการประกอบอาหารที่มีส่วนประกอบด้วยไข่เค็ม ทำให้ได้รายการอาหารไข่เค็มเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวนอกจากจะช่วยพัฒนาทักษะของผู้เรียนแล้วยังเป็นการช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนโนนสมบูรณ์รวมทั้งช่วยรักษาวัฒนธรรมด้านอาหารท้องถิ่นให้มีชื่อเสียงด้วย

สำหรับวัตถุประสงค์ของการจัดโครงการครั้งนี้ คือ เพื่อจัดกิจกรรมบูรณาการ การเรียนการสอน การบริการวิชาการด้านสุขาภิบาลอาหาร งานวิจัย และศิลปวัฒนธรรม โดยกลุ่มเป้าหมายหลักคือ ผู้จำหน่ายอาหารในชุมชน   ประชาชนที่ผลิตไข่เค็ม และคณะกรรมการหมู่บ้าน  ตัวชี้วัดความสำเร็จได้แก่ 1) จำนวนผู้เข้าร่วมโครงการไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 2) จำนวนร้านค้าที่ได้รับการตรวจด้านสุขาภิบาลอาหารไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 3) รายการอาหารไข่เค็มใหม่ไม่น้อยกว่า 3 รายการ และ 4)  ผลการทดสอบความรู้ผ่านเกณฑ์ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 สำหรับผลที่คาดว่าจะได้รับในเชิงนโยบายคือ 1)  ช่วยพัฒนาคุณภาพบัณฑิตให้เป็นไปตามมาตรฐานวิชาการและวิชาชีพเป็นที่ยอมรับตามมาตรฐานสากล 2) ช่วยพัฒนามาตรฐานการให้บริการวิชาการ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อตอบสนองความต้องการของชุมชนท้องถิ่นอย่างยั่งยืน และ       3) ช่วยส่งเสริม สืบสาน ทำนุบำรุงและเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมอีสานใต้ให้มีความโดดเด่นสู่สากล ส่วนผลที่คาดว่าชุมชนจะได้รับ คือ ช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน และช่วยเผยแพร่และอนุรักษ์อาหารท้องถิ่นในชุมชน ในด้านวิชาการ การจัดโครงการครั้งนี้จะช่วยพัฒนาทักษะทางวิชาการด้านการบริการวิชาการของนักศึกษา โดยช่วยพัฒนาทักษะด้านการเรียนการสอน การบริการวิชาการ การวิจัย และการส่งเสริมทางศิลปวัฒนธรรม ทำให้บัณฑิตมีคุณภาพตามมาตรฐานวิชาการและวิชาชีพ

ไฟล์แนบ

pdf สรุปโครงการบริการวิชาการอาหาร

ขนาดไฟล์ 2 MB | จำนวนดาวน์โหลด 224 ครั้ง

ความคิดเห็น