งานด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยเป็นงานที่มีการควบคุมดูแลคนทำงานให้มีสุขภาพดีในทุกมิติ ได้แก่ มิติทางร่างกาย อารมณ์ สังคม สติปัญญา จิตวิญญาณ และการทำงานอย่างปลอดภัย ซึ่งในปัจจุบันมีอันตรายเกิดขึ้นและรุนแรงมากขึ้นจากอุบัติเหตุต่างๆ เมื่อสอบสวนอุบัติเหตุมักพบว่าเกิดจากพฤติกรรมมนุษย์ที่ไม่ปลอดภัย (Unsafe Act) เป็นหลัก รองลงมาคือสภาพแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัย (Unsafe Condition) ซึ่งพฤติกรรมที่ไม่ปลอดภัยสามารถให้ความรู้ความเข้าใจเพื่อลดพฤติกรรมเสี่ยงได้ ในการเรียนอาชีวอนามัยและความปลอดภัยมีภาคปฏิบัติด้านการบริการอาชีวอนามัยในชุมชน จึงมีการดำเนินการจัดโครงการบริการทางวิชาการด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในสถานประกอบการ ได้แก่ โรงเรียน ชุมชนเกษตร และโรงงานอุตสาหกรรม สำหรับในโรงเรียนมีสถิติข้อมูลเกี่ยวกับอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินและอุบัติเหตุของเด็ก อายุตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 15 ปี พบว่ามีเด็กเจ็บป่วยฉุกเฉินและประสบอุบัติเหตุทั้งสิ้น 87,456 คน จำแนกการเกิดอุบัติเหตุต่างๆ ได้ ดังนี้  อุบัติเหตุยานยนต์ 24,439 คน พลัดตกหกล้ม 7,619 คน ถูกไฟไหม้ น้ำร้อนลวก 444 คน จมน้ำ บาดเจ็บทางน้ำ 392 คน และการสำลักอุดกั้นทางเดินหายใจ 93 คน นอกจากนี้ ในปี พ.ศ. 2556 พบว่ามีเด็กบาดเจ็บและเจ็บป่วยฉุกเฉิน ทั้งสิ้น 899,817 คน เป็นการเจ็บป่วยฉุกเฉินจากอุบัติเหตุจราจรมากเป็นอันดับหนึ่ง จำนวน 319,794 คน ส่วนอุบัติเหตุอื่นๆ เช่น การพลัดตกหกล้ม จำนวน 91,902 คน ถูกทำร้าย จำนวน 29,946 คน ไฟไหม้น้ำร้อนลวก สารเคมี ไฟฟ้าช๊อต จำนวน 3,612 คน และการบาดเจ็บทางน้ำ จำนวน 1,598 คน (อนุชา  เศรษฐเสถียร, 2557) จากสถิติดังกล่าวจึงต้องมีการดำเนินการเพื่อลดอันตรายและอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นโดยการร่วมมือในทุกภาคส่วน เพื่อให้ความรู้เรื่องอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นในโรงเรียนและการปฐมพยาบาลเบื้องต้นเพื่อลดการบาดเจ็บและเยียวยาผู้ป่วย สามารถให้นักเรียนได้นำไปใช้ในชีวิตประจำวัน ในส่วนของภาคเกษตรนั้น เนื่องจากอาชีพเกษตรกรคืออาชีพหลักของประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศไทย โดยในปัจจุบันการทำอาชีพเกษตรกรมีการใช้สารเคมีในการทำการเกษตรมากขึ้น ทั้งนี้ จากข้อมูลทางสถิติในการนำเข้าสารเคมีทางการเกษตรในปี พ.ศ. 2559 มีการนำเข้าสารเคมีทางการเกษตรสูงถึง 117,815 ตัน โดยสารเคมีที่นำเข้ามากที่สุดคือ สารกำจัดวัชพืช รองลงมา คือ สารกำจัดแมลง และสารป้องกันและกำจัดโรคพืช (สำนักงานเศรษฐกิจและการเกษตร, 2560) เมื่อมีการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชเหล่านี้มากขึ้น และบางครั้งก็เลือกใช้สารที่ไม่ตรงกับศัตรูพืชที่มารบกวน หรือใช้ผสมรวมกันหลากหลายชนิด หรือสารเคมีแต่ละชนิดที่ใช้มีความเป็นพิษร้ายแรงสูง อาจทำให้เกษตรกรได้รับอันตราย เกิดอาการและความเจ็บป่วยต่างๆ ตามไปด้วย (กระทรวงสาธารณสุข, 2560) การจัดทำโครงการบริการทางวิชาการด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในภาคเกษตร จะทำให้เกษตรกรมีความรู้เรื่องการใช้สารเคมีอย่างปลอดภัยและสามารถปฐมพยาบาลเบื้องต้นกรณีได้รับสารเคมี

สำหรับในภาคอุตสาหกรรมมีสถิติข้อมูลการบาดเจ็บจากการทำงานในปี พ.ศ.2559 พบผู้บาดเจ็บจากการทำงานรวมจำนวน 177,442 คน คิดเป็นอัตราป่วยต่อแสนคน เท่ากับ 295.48 เพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2558 ซึ่งพบผู้บาดเจ็บจากการทำงาน จำนวน 171,840 คน (อัตราป่วย 289.06) โดยจังหวัดที่พบว่ามีผู้ป่วยสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่จังหวัดบุรีรัมย์ 9,722 คน จังหวัดนครราชสีมา 7,510 คน และจังหวัดน่าน 6,850 คน ตามลำดับ ส่วนข้อมูลผู้ป่วยโรคกระดูกและกล้ามเนื้อมีจำนวน 81,226 คน คิดเป็นอัตราป่วยต่อแสนคน เท่ากับ 135.26 ผู้ป่วยโรคการได้ยินเสื่อมเหตุเสียงดัง จำนวน 60,946 คน คิดเป็นอัตราป่วยต่อแสนคนเท่ากับ 101.49 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2558 ด้วยเช่นกัน จากสาเหตุดังกล่าวทางกรมแรงงานจึงได้ให้ความสำคัญในการจัดการสภาพแวดล้อมทางกายภาพในสถานประกอบการและมีการส่งเสริมสุขภาพในสถานประกอบการอย่างปลอดภัยมากยิ่งขึ้น โดยมีการปรับทัศนคติและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของพนักงานในสถานประกอบการเพื่อลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุและให้กับพนักงานในสถานประกอบการ ดังนั้นในการจัดกิจกรรมบริการวิชาการด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยให้แก่พนักงาน จะช่วยสร้างความตระหนักด้านความปลอดภัยให้กับพนักงาน ทำให้พนักงาน มีความรู้ ความเข้าใจ เรื่องการป้องกันอันตรายจากสภาพแวดล้อมทางกายภาพ มีการยกของหนักอย่างถูกต้องปลอดภัย และสามารถบริหารร่างกายเพื่อลดความเมื่อยล้าจากการทำงาน ทำให้พนักงานมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงและลดอุบัติเหตุหรือโรคจากการทำงานได้

สำหรับวัตถุประสงค์ในการจัดโครงการเพื่อดำเนินการจัดกิจกรรมบริการวิชาการด้านอาชีวอนามัยในโรงเรียน โรงงานและชุมชนเกษตร มีกลุ่มเป้าหมายดังนี้ 1) นักเรียนในโรงเรียนเขตอำเภอเมืองบุรีรัมย์ 3 แห่ง จำนวน 100 คน 2) ประชาชนเกษตรกรในจังหวัดบุรีรัมย์ 3 หมู่บ้าน จำนวน 100 คน และ 3)  พนักงานโรงงานอุตสาหกรรมเขตอำเภอเมืองบุรีรัมย์ 3 บริษัท จำนวน 50 คน รวมทั้งสิ้นจำนวน 250 คน ประเมินผลความสำเร็จของโครงการจาก 1) จำนวนผู้เข้าร่วมอบรมไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 (ไม่น้อยกว่า 200 คน)  2) ค่าเฉลี่ยความพึงพอใจของผู้เข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่า 3.51 และ 3) ผลการทดสอบหลังการอบรมผ่านเกณฑ์ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ทั้งนี้ ผลที่คาดว่าจะได้รับจากการจัดโครงการในครั้งนี้ได้แก่ ผู้เข้าร่วมอบรมได้ความรู้ความเข้าใจเรื่องความปลอดภัยในโรงเรียน การใช้สารเคมีอย่างปลอดภัย ความปลอดภัยในการทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม ช่วยพัฒนาทักษะทางด้านการเรียนของนักศึกษาของสาขาวิชาธารณสุขชุมชน และช่วยสร้างสัมพันธภาพที่ดีระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคชุมชนกับมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์

ไฟล์แนบ

pdf สรุปโครงการบริการวิชาการอาชีวอนามัย

ขนาดไฟล์ 433 KB | จำนวนดาวน์โหลด 241 ครั้ง

ความคิดเห็น