วรรณกรรมท้องถิ่น อีสานใต้ เรื่องปาจิต-อรพิม วิเคราะห์เปรียบเทียบตาม ทฤษฎีรส วรรณคดีสันสกฤต 3 ทฤษฎี คือ ศฤงคารรส ความซาบซึ้งในความรัก กรุณารส ความสงสารและอัตภูตรส ความอัศจรรย์ใจ นอกจากทำให้เข้าใจเรื่องทฤษฎีรสวรรณคดีสันสกฤตแล้วยังมีข้อค้นพบที่สำคัญคือ มีการสอดแทรกหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาไว้ในเนื้อหา เช่น การให้ทาน รักษาศีล สติสัมปชัญญะ ละอายต่อการทำความชั่ว กลัวต่อผลของความชั่ว และการพูดคำสัตย์ เป็นต้น ซึ่งเป็นการยกระดับวรรณกรรมท้องถิ่นให้มีคุณค่า และความสำคัญเพิ่มขึ้น ดังนั้น บทความเรื่อง รสถ้อยร้อยคำแบบวรรณคดีสันสกฤตในปาจิต-อรพิม; วรรณกรรมท้องถิ่นอีสาน(ใต้) สามารถสรุปวัตถุประสงค์สำคัญได้ดังนี้ 1) เพื่อให้รู้ประวัติและเนื้อหาของวรรณกรรมท้องถิ่นอีสานใต้ เรื่องปาจิต-อรพิม 2) เพื่อให้รู้และเข้าใจเรื่องทฤษฎีรสในวรรณกรรมท้องถิ่นอีสานใต้ เรื่อง ปาจิต-อรพิมโดยวิธีวิเคราะห์ตามทฤษฎีรสวรรณคดีสันสกฤต
ปาจิต-อรพิม เป็นวรรณกรรมลายลักษณ์ ประเภทนิทาน ตำนานบ้านตำนานเมือง เป็นคำประพันธ์ประเภทกลอนสุภาพ หรือกลอนแปด บันทึกลงในสมุดข่อยด้วยอักษรภาษาไทยโบราณ มีอายุมากกว่า 100 ปี พบที่อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ นอกจากนี้ยังมีลักษณะเป็นวรรณกรรมมุขปาฐะ เล่าสืบต่อกันมาช้านาน รู้จักกันอย่างแพร่หลายในเขตอีสานใต้ ได้แก่ บุรีรัมย์ สุรินทร์ นครราชสีมา โครงเรื่องหลักมีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องความรัก การผจญภัย การพลัดพรากจากกันของชายหนุ่มหญิงสาวเหมือนกัน แต่รายละเอียดเกี่ยวกับเหตุการณ์ และสถานที่ต่างๆ มีความแตกต่างกันออกไป มีความสัมพันธ์กับสถานที่ที่มีอยู่ในปัจจุบัน เช่นอำเภอพิมาย อำเภอนางรอง เขาไปรบัด ลำมาศ เป็นต้น (ภูมิจิตร เรืองเดช, 2544 : 1)
ส่วนคำว่า “ทฤษฎีรส” ในวรรณคดีสันสกฤต หมายถึง ปฏิกิริยาทางอารมณ์ที่เกิดในใจของผู้อ่าน เมื่อได้รับรู้อารมณ์ที่กวีถ่ายทอดไว้ในวรรณคดี นักวรรณคดีตามทฤษฏีรส มีความเห็นว่า วรรณคดีเกิดขึ้นเมื่อกวีมีอารมณ์สะเทือนใจ แล้วถ่ายทอดความรู้สึกนั้นออกมาในบทประพันธ์ อารมณ์นั้นจะกระทบใจผู้อ่าน ทำให้เกิดการรับรู้ และเกิดปฏิกิริยาทางอารมณ์เป็นการตอบสนองสิ่งที่กวีเสนอมา รสจึงเป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นในใจของผู้อ่าน มิใช่สิ่งที่อยู่ในวรรณคดี ซึ่งเป็นเพียงอารมณ์ที่กวีถ่ายทอดลงไว้ และเป็นตัวทำให้เกิดรสเท่านั้น อารมณ์ต่างๆ ที่กวีแสดงไว้ในผลงาน เรียกว่า ภาวะ ในระยะแรก ภาวะ มี 8 อย่าง คือ รติ ความรัก, หาสะ ความขบขัน, โศกะ ความทุกข์โศก, โกรธะ ความโกรธ, อุตสาหะ ความมุ่งมั่น, ภยะ ความน่ากลัว, ชุคุปสา ความน่ารังเกียจ และวิสมยะ ความน่าพิศวงต่อมา จึงมีภาวะ ที่ 9 คือ ศมะ ได้แก่ ความสงบ เพิ่มเข้ามาเป็นภาวะสุดท้าย นอกจากนี้ กวีอาจแสดงภาวะเสริม (วยภิจาริภาวะ) ไว้ด้วย เช่น ความไม่แยแส ความสงสัย ความยินดี เป็นต้น ภาวะเสริมนี้ อาจเป็นตัวหนุนให้ภาวะหลักเด่นขึ้น หรืออาจเป็นตัวแปร ทำให้รสที่ควรเกิดตามภาวะนั้นเปลี่ยนไป (กุสุมา รักษมณี, 2530 :19-20)
ความคิดเห็น