บทคัดย่อ
ดอกไม้ที่ประชาชนนำมาสักการะบูชาตามประเพณีความเชื่อของไทย หากไม่มีการจัดการที่ดีจะทำให้เกิดเป็นขยะ ดังนั้นการคัดเลือกดอกไม้ที่มีสารที่บำรุงผิวเพื่อผลิตเป็นสบู่ จึงเป็นการลดปัญหาขยะและเพิ่มคุณค่าของดอกไม้ได้ การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจปริมาณและประเภทของดอกไม้จากศาลหลักเมืองจังหวัดบุรีรัมย์ และพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เพื่อตรวจสอบฟอร์มาลีนและยาฆ่าแมลงในดอกไม้ และเพื่อผลิตสบู่จากดอกไม้ ดำเนินการสำรวจดอกไม้ระหว่างวันที่ 26 พฤษภาคม ถึง 25 มิถุนายน พ.ศ. 2560 ทดสอบฟอร์มาลิน และยาฆ่าแมลงด้วยชุดทดสอบ ผลิตสบู่โดยใช้น้ำมันรำข้าว น้ำมันบัว น้ำมันปาล์ม น้ำ โซเดียมไฮดรอกไซด์ และดอกไม้ ตรวจสอบลักษณะทางกายภาพและทางเคมีของสบู่ก่อนนำไปศึกษาความพึงพอใจกับกลุ่มบุคลากรในมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ จำนวน 40 คน การศึกษาพบว่า ศาลหลักเมืองจังหวัดบุรีรัมย์ มีดอกไม้เฉลี่ย 1.18 กิโลกรัมต่อวัน ขณะที่อนุสาวรีย์ ร.1 มีดอกไม้เฉลี่ย 0.82 กิโลกรัมต่อวัน ดอกไม้ที่พบมาก ได้แก่ ดอกดาวเรือง ดอกมะลิ ดอกบัว และดอกกุหลาบ ซึ่งไม่พบฟอร์มาลินและยาฆ่าแมลง สบู่ดอกดาวเรือง สบู่ดอกมะลิและสบู่ดอกบัวมีค่ากรดด่าง 9.84-9.88 ปริมาตรของฟอง 69.67-80.00 มิลลิลิตร ความคงทนของฟอง 67.00-78.67 มิลลิลิตร และการสึกกร่อนร้อยละ 43.54-49.06 ซึ่งมีคุณภาพตามเกณฑ์มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน มผช. 94/2552 กลุ่มตัวอย่างพึงพอใจสบู่มากที่สุดด้านการไม่ระคายเคือง รองลงมา ได้แก่ ปริมาณฟองสบู่ ประสิทธิภาพการชำระล้างสิ่งสกปรก สี กลิ่น และความแข็งของก้อนสบู่ การศึกษาสรุปได้ว่า ดอกไม้ที่ประชาชนนำมากราบไหว้บูชาไม่ปนเปื้อนฟอร์มาลินและยาฆ่าแมลง จึงสามารถนำมาผลิตเป็นสบู่ได้อย่างปลอดภัย
ความคิดเห็น