สุนทรียภาพในการรับรู้ มีความเกี่ยวข้องกับสุนทรียศาสตร์ซึ่งมีความหมายคือ วิชาที่ว่าด้วยเรื่องของความงาม และสุนทรียภาพ ที่มีความหมายว่าความรู้สึกที่งาม สืบเนื่องจากความต้องการของมนุษย์ที่มีมากกว่าความต้องการที่เป็นปัจจัยภายนอกที่ตอบสนองทางร่างกาย อันได้แก่ ปัจจัยสี่ คือ เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค ที่อยู่อาศัย และอาหาร ความต้องการทางใจนี้คือสิ่งที่ทำให้มนุษย์มีความรู้สึก เป็นปฏิกิริยาทางสังคม คือ ความมีสุนทรีย์ หรือความงามนั่นเอง โดยการรับรู้ที่มนุษย์ใช้สื่อสารทางสังคมด้วยอวัยวะรับรู้ทั้ง 5 ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กายสัมผัส ล้วนเป็นช่องทางที่ทำให้มนุษย์ได้ติดต่อและเชื่อมความรู้สึกระหว่างกันได้ สุนทรียภาพจึงเป็นความงดงามที่ใช้สำหรับการสื่อสาร อาจเป็นผู้รับสาร หรือเป็นผู้ส่งสาร ก็สามารถรับความสัมผัสทางสุนทรียภาพนี้ได้

คุณค่าทางสุนทรีย์ นอกจากจะสร้างความละเมียดในการสื่อสารแล้วยังมีคุณค่าทำให้จิตใจของผู้ที่ถูกฝึกฝนในเรื่องสุนทรียภาพให้มีความอ่อนโยน เข้าใจสังคม และมีความงดงามในจิตใจ ด้วยวิชาทางด้านสุนทรียศาสตร์จัดเป็นวิชาทางด้านคุณวิทยา ซึ่งเป็นปรัชญาสาขาหนึ่ง ที่ทำให้ระดับจิตใจของมนุษย์สูงขึ้น กว่าสัตว์ เพราะวิวัฒนาการของมนุษย์ไม่ได้พัฒนาเฉพาะพัฒนาการทางร่างกายเท่านั้น แต่ยังเป็นการพัฒนาทางด้านจิตใจอีกด้วยในระบบการศึกษาและสุนทรียภาพ หลักสูตรศิลปศึกษาในระบบโรงเรียนมาตั้งแต่ พ.ศ. 2438 นับร้อยปีเศษ มาจนถึงทุกวันนี้ ศิลปศึกษาในโรงเรียน รวมทั้งสถาบันอุดมศึกษา ยังไม่สามารถสร้างทัศนคติที่ดีต่อสุนทรีย์ในชีวิตประจำวัน ให้กับคนมีการศึกษาและประชาชนคนไทยทั้งมวลได้ ซึ่งก็อาจจะไม่ต่างไปจากพัฒนาการทางด้านวิทยาศาสตร์นับร้อยปีเศษในสังคมไทย ที่ยังไม่สามารถสร้างความคิดในเชิงวิทยาศาสตร์ให้กับประชาชนคนไทยได้มากนักคนมีการศึกษายังคงภาคภูมิใจในการไม่มีความรู้และไม่มีรสนิยมทางทัศนศิลป์ ดนตรี ศิลปะการแสดง ฯลฯ และยังภาคภูมิใจในความเชื่อความคิดทางไสยศาสตร์ ระบบการศึกษาต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการเรียนรู้ดังที่ผ่านมา ให้ได้ เพราะการศึกษาในระบบโรงเรียนยังคงเป็นหัวใจสำคัญในสังคม สังคมและครอบครัวก็มีแนวโน้มไปทางนั้นเท่าที่ผ่านมา ทัศนศิลป์ในโรงเรียน มุ่งผลผลิตทางผลงานศิลปะ ศิลปะที่เน้นทักษะ งานช่างฝีมือมากกว่าการสร้างทัศนคติและรสนิยมทางศิลปะดนตรีและศิลปะการแสดง ยิ่งเป็นปัญหามากกว่าทัศนศิลป์ มีปัญหาทั้งแนวคิดทางการศึกษาของนักการศึกษา การรวบอำนาจทางวิชาการจากศูนย์กลางผู้สอนที่ขาดความรู้ความเข้าใจ และขาดพลังในการเป็นครู ฯลฯ สังคมไทยต้องปฏิรูประบบการศึกษาทั้งหมด รวมทั้งการศึกษาเพื่อพัฒนาสุนทรียภาพด้วย ปัญหาทั้งหมดก็คงมิใช่เพียงเฉพาะการศึกษาในระดับโรงเรียนเท่านั้น การศึกษาในระดับอุดมศึกษา ก็จำเป็นต้องปฏิรูปตัวเองด้วยเช่นกันเชื่อมโยงไปถึงการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย สำหรับคนไทยทั้งปวง (วิรุณ ตั้งเจริญ. 2552 : 117-118)

ความคิดเห็น