• ผศ.ดร.วรวัฒน์ พรหมเด่น posted an update 4 years, 8 months ago

    การตรวจคัดแยกและระบุสายพันธุ์แบคทีเรียกลุ่ม Vibrio ในอาหารประเภทยำทะเลด้วยวิธีเพาะเลี้ยงและวิธีทางอณูชีววิทยา – อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์

    นางสาวภูสุดา วงศ์จำปา นางสาวปิยะมาศ ผาเจริญ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วรวัฒน์ พรหมเด่น

    การตรวจคัดแยกและระบุสายพันธุ์แบคทีเรียกลุ่ม Vibrio ในอาหารประเภทยำทะเลด้วยวิธีเพาะเลี้ยงและวิธีทางอณูชีววิทยา ที่สุ่มเก็บตัวอย่างจากร้านค้าในอำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ จำนวน 5 ร้าน เก็บตัวอย่าง1 ครั้ง/สัปดาห์ เป็นเวลา 4 สัปดาห์ ตั้งแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน 2562 ถึง 17 ธันวาคม 2562 นำตัวอย่างมาเพาะเลี้ยงเชื้อบนอาหาร TCBS agar ซึ่งสามารถบ่งชี้สกุลของเชื้อ Vibrio ตามคุณสมบัติการหมักน้ำตาลซูโครสพบโคโลนีที่เจริญ 4 ลักษณะ คือ สีเหลืองเข้ม ขนาด 0.1 – 0.3 เซนติเมตร สีเหลืองขาวขุ่น ขนาด 0.3 – 0.5 เซนติเมตร สีเขียวเข้ม ขนาด 0.1 – 0.3 เซนติเมตร และสีเขียวขาวขุ่น ขนาด 0.3 – 0.5 เซนติเมตร โคโลนีที่เจริญบน TCBS agar ถูกสุ่มมาตรวจยืนยันลักษณะทางอณูชีววิทยา ด้วยเทคนิคพีซีอาร์ (Polymerase Chain Reaction ; PCR) เพื่อวิเคราะห์ลำดับยีน 16sRNA พบเชื้อ Vibrio 7 สปีชีส์ คือ V. mediterranei, V. harveyi, V. parahaemolyticus, V. shilonii, V. neonates, V. campbellii และ V. alginolyticus และยังพบเชื้อชนิดอื่น ๆ ได้แก่ Shewanella sp. , S. algae, Aeromonas cavias, A. veronii, A. taiwanensis, A. dhakensis, A. enteropelogenes และ Klvyvera sp. โดยเป็นเชื้อก่อโรค ในมนุษย์ ได้แก่ V. alginolyticus, A. cavias, S. algae และ Klvyvera sp. เป็นเชื้อก่อโรคในสัตว์ ได้แก่ V. harveyi, V. campbellii, A. dhakensis และ Shewanella sp. ดังนั้น การบริโภคยำทะเลที่ไม่ถูกปรุงสุก หรือปรุงสุก ๆ ดิบ ๆ ในอำเภอเมืองบุรีรัมย์ มีโอกาสเสี่ยงต่อโรคอาหารเป็นพิษ