เทคนิคการเล่นโมเดิร์นกีต้าร์แจ๊ส

เทคนิคการเล่นโมเดิร์นกีต้าร์แจ๊ส โดย แมท วอร์น็อค แปลโดย อิทธิกร คามาโช

          ในฐานะผู้สอน มักจะมีลูกศิษย์ลูกหาและเหล่าบรรดาสาวกทั้งหลายมาขอให้ช่วยปรับการเล่นเพื่อให้ได้กลิ่นไอของความเป็นโมเดิร์นแจ๊ส พวกเขาได้ใช้เวลาอย่างมากมายเพื่อศึกษาสไตล์การเล่นแบบบีบ็อพและฮาร์ดบ็อพ และพร้อมที่จะก้าวไปยังวิธีการฝึกแบบร่วมสมัยมากยิ่งขึ้น เพื่อที่จะนำไปปรับใช้กับเครื่องดนตรีและการโซโล่ของพวกเขา หลายปีที่ผ่านมาผมพบว่ามันมีวิธีการฝึกบางอย่างที่เหมาะสำหรับการนำไปใช้ปรับการเล่นของบรรดานักเรียนเหล่านั้น เพื่อปรับจากการเล่นแจ๊สในแบบดั้งเดิมให้มีความทันสมัยมากขึ้นแต่ในขณะเดียวกันผมก็ไม่ได้ละเลยที่จะละทิ้งความรู้เดิมๆอย่างเช่นบีบ็อพและฮาร์ดบ็อพที่ได้ศึกษามาก่อนหน้านั้นแล้ว

          บทความต่อไปนี้จะเป็นเป็นชุดของบทความที่ผมเคยเขียนอธิบายและนำเสนอวิธีการศึกษาและการฝึกฝนกีต้าร์ในแบบโมเดิร์นแจ๊ส แน่นอนว่ามันไม่ได้หมายความว่าจะเป็นวิธีการฝึกที่ดีเลิศประเสริฐศรีที่สุด แต่มันก็น่าจะเป็นวัตถุดิบในการฝึกที่เพียงพอที่จะทำให้บรรดาสาวกทั้งหลายปวดกระบาลไปได้เป็นปีๆเลยทีเดียวในการจัดการกับมัน นอกจากนี้เช่นเดียวกับนักเรียนแจ๊สทั้งหลาย ทีผมก็ได้เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับรูปแบบและวิธีการในการศึกษาดนตรีแจ๊สจากการสอนบรรดาลูกศิษย์เหล่านั้น ในทุกสัปดาห์ในแต่ละเทอมนั่นเอง

Tritone Substitution Soloing For Jazz Guitar

          จากการที่ดนตรีแจ๊สได้ก้าวพ้นจากยุคบีบ็อพและฮาร์ดบ็อพ บรรดานักดนตรีทั้งหลายต่างเริ่มที่จะคิดค้นวิธีการใหม่ๆเพื่อที่จะโซโล่บนทางเดินคอร์ดต่างๆให้ได้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ บรรดานักดนตรีอย่าง จอห์น โคลเทรน จอห์น อาเบอร์คอมบี้ เวย์น ชอร์ตเตอร์ และ เฮอร์บี้ แฮนค็อก ต่างก็พากันนำเสนอ ”วิธีการฝึกอิมโพรไวซ์แบบใหม่ๆ” ซึ่งต่อมาเราเรียกกันว่า “โมเดิร์นแจ๊ส”

มีลูกศิษย์ลูกหามาถามผมบ่อยๆว่าจะเล่นซาวด์แบบโมเดิร์นแจ๊สได้อย่างไร ซึ่งผมก็มักจะแนะนำให้เริ่มจากแนวคิดที่ผมเรียกมันว่า การโซโล่แบบ Tritone Substituition หรือ Tritone Octave Division ซึ่งคอนเซ็ปต์นี้ได้มาจากมือทรัมเป็ตผู้ยิ่งใหญ่ที่ชื่อว่า วู๊ดดี้ ชอว์ เขาหลงใหลในการเล่นเพนทาโทนิคสเกลแบบ 2 เพนทาโทนิคสเกลพร้อมๆกันโดยมีระยะห่างออกไปเป็นขั้นคู่ 3 เสียงเต็ม (tritone) จากคอร์ดที่มีอยู่ ดังนั้นถ้าเขาเล่นบนคอร์ด Cm7 เขาก็จะเล่น C ไมเนอร์เพนทาโทนิคสเกลและ F# ไมเนอร์เพนทาโทนิคสเกล เพื่อสร้างเค้าโครงในไลน์โซโล่แบบ Tritone Substitution ของเขา

เนื่องจากผมเป็นผู้คลั่งไคล้การเล่นแบบบีบ็อพทั้งตัวและหัวใจ ผมจึงได้นำเทคนิคของวู๊ดดี้ ชอว์ มาผสมเข้ากับศัพท์สำเนียงแบบบีบ็อพที่ผมได้ศีกษามานานหลายปีเพื่อนำวิธีการเล่นทั้งสองแบบมาผสมเข้ากับวิธีการเล่นในแบบ Tritone Substitution

เอาล่ะเรามาเริ่มเจาะลึกคอนเซ็ปต์ที่ว่านี้ด้วยนิ้วและโสตประสาทของเรากันดีกว่า

สิ่งที่เราจะทำก่อนเป็นอันดับแรกเลยคือเรามาดูกันว่าบรรดาโน๊ต Tritone Arpeggios บนคอกีต้าร์นั้นมันสามารถเลื้อยไปทางไหนได้บ้าง สำหรับในตัวอย่างนี้เราจะใช้คอร์ด G7 แต่คุณก็สามารถประยุกต์คอนเซ็ปต์นี้เข้ากับคอร์ดประเภทต่างๆได้ อย่างเช่นคอร์ดประเภท m7, Maj7 หรือ mMaj7 ฯลฯ อ้อแล้วก็ต้องฝึกในทุกๆคีย์ด้วยนะครับ ดังนั้นเมื่อคุณฝึกบนคอร์ด G7 จนกระทั่งซึมเข้ากะโหลกและเข้ามือแล้วก็ให้ใช้วิธีการเดียวกันนี้บนคอร์ด Gmaj7 แล้วก็คอร์ดAm7 ตามด้วยคอร์ด DbmMa7 ฯลฯ เพื่อป้องกันความขี้เกียจของคุณจากการฝีกแบบเดียวคีย์เดียว เพราะว่าในช่วงเสียง 1 Octave นั้นเราสามารถแบ่งเจ้า tritone ออกได้เป็น 2 ส่วนเท่าๆกัน ที่เจ๋งก็คือโน๊ตที่เป็น Root ของคอร์ดอย่างเช่นโน๊ต G และ Db ซึ่งมีซาวด์แตกต่างกันที่สามารถมองเป็นคอร์ดเดียวกันได้ไม่ว่าจะเป็นระหว่างคอร์ด G7 กับคอร์ด Db7 หรือคอร์ด Gm7 กับคอร์ด Dbm7 ดังนั้นสิ่งสำคัญในการเรียนรู้ด้วยแนวคิดนี้ก็คือการที่เราสามารถมองเห็นโน๊ต Root ของแต่ละคอร์ดที่วิ่งไปมาบนคอกีต้าร์ได้อย่างชำนาญ แน่นอนว่าวิธีการนี้เป็นวิธีการที่คุณจะสามารถที่จะเพียงแค่เปลี่ยนลักษณะของคอร์ดจากคอร์ดประเภท 7th ไปยังคอร์ดประเภท Maj7 ขณะที่ระยะห่างขอองโน้ต Root ของทั้งสองประเภทคอร์นั้นมีระยะเท่ากัน ทำให้สะดวกในการปรับไปใช้กับคอร์ดอื่นๆในคีย์อื่นๆทั่วทั้งคอกีต้าร์

Tritone Substitution Soloing – Fingerings

ทีนี้ก็มาถึงเรื่องเจ๋งๆอีกอย่างหนึ่งของการโซโล่ด้วย Tritone โดยการแบ่งออกเป็นกลุ่มย่อยๆนั่นคือการที่เราไม่ต้องไปสนใจเลยว่าจะต้องเริ่มโซโล่บนคอร์ด tonic หรือคอร์ด tritone เพราะไม่ว่าจะอย่างไรก็ตามทางนิ้วที่ใช้โซโล่มันก็จะเหมือนกันเสมอนั่นแหละ สิ่งที่ต้องทำเป็นอันดับแรกก็คือ ฝึกทางนิ้ว arpeggio จาก example แรกตามภาพนี้นั่นแหละ ทีนี้ถ้าเราใช้ทางนิ้วเดียวกันนี้บนคอกีต้าร์โดยเริ่มเล่นโน๊ต tritone ขอ คอร์ด G7 แทนที่จะเล่นจาก root นั่นคือ ให้เล่นบนคอร์ดDb7 เราจะเห็นได้ว่าทางนิ้วแบบ alternate arpeggio ที่วิ่งไปมานี้มันเหมือนกันกับทางนิ้วที่ใช้บนคอร์ด  G7 เป๊ะเลย เจ๋งดีมั้ยล่ะพ่อเจ้าประคุณรุนช่อง ดังนั้นไม่ว่าเราจะฝึกลูก lick, scale หรือ arpeggio ที่เริ่มต้นอยู่บนคอร์ดโทนิคก็ตามแต่  คุณก็เพียงแค่เล่นด้วยทางนิ้วเดิมบนสายเดียวกันกับที่เป็นคอร์ด triton เท่านั้นแหละ เห็นมั้ยว่าทางนิ้วแบบนี้คุ้มเกินคุ้มยิ่งกว่าอะไรเสียอีก

Tritone Substitution Soloing – Inverted Arpeggios

จากการที่เจ้าขั้นคู่เสียง tritone นี้มันสามารถแบ่ง octave ออกได้เท่าๆกันจนเป๊ะเว่อร์ ถ้าเราเป็นคนช่างสังเกตซะหน่อยก็จะเห็นได้ว่า เราสามารถเล่นทางนิ้วทั้ง 2 ทางได้ตามตัวอย่างในรูปทั้ง 2 ตัวอย่าง (ตย.แรกอยู่ในบทความตอนที่ 2 ) ทั้งทางนิ้ว G7 และ Db7บนคอร์ด G7 แล้วเราก็สามารถใช้ทางนิ้วแบบเดียวกันนี้บนคอร์ด Db7 ได้เช่นเดียวกัน เนื่องจากคอร์ด Db7 มันเป็น tritone ที่ห่างออกไปจากคอร์ด G7 นั่นเอง ขณะเดียวกันนั้นเจ้าคอร์ด G7 ก็เป็น tritone ห่างออกไปจากคอร์ด Db7 เช่นเดียวกัน ดังนั้นจึงหมายความว่าหากเราฝึกด้วยวิธีนี้ในคีย์อื่นๆอีก 6 คีย์ ก็จะกลายเป็นว่าคุณได้ฝึกทั้งหมด 12 คีย์ เนื่องจากแต่ละคีย์ก็จะมีคีย์ฝาแฝดที่เป็น tritone ห่างออกไปนั่นเอง แล้วก็หากเป็นไปได้ก็ให้ใส่คอร์ดลงไปใน โปรแกรม Band In A Box แล้วลองซ้อมดูหรือให้เพื่อนช่วยตีคอร์ดให้ก็ได้ อาจจะลองโซโล่ทีละ 8 ห้องก่อนก็ได้ พอชำนาญแล้วค่อยเพิ่มก็ไม่เสียหายอะไร ประเด็นคือว่าให้พยายามสังเกตและทำความคุ้นเคยกับเสียงที่เล่นออกมาว่าเป็นอย่างไร แล้วคุณจะเห็นได้ว่าทำไมวิธีการฝึกแบบนี้มันมีเป็นประโยชน์ มีความหลากหลายและง่ายต่อการเรียนรู้ เนื่องจากการที่เราได้แบ่ง Tritone ออกเป็นสองส่วนเท่าๆกันนั่นแหละ

Tritone Substitution Soloing – Chord Inversions

 

นี่เป็นทางนิ้วที่เล่นในแบบ arpeggios มาดูกันว่าเราจะประยุกต์ใช้เจ้านี่เข้ากับเพลงได้ยังไง และนี่ก็เป็นตัวอย่าง lick ที่ผมใช้ใน 4 ห้องแรกของเพลง Blues in G ซึ่งแน่นอนว่าคอร์ดใน 4 ห้องแรกนี้ก็คือคอร์ด G7 นั่นแหละ ทีนี้เวลาเล่นก็ให้เล่นแค่โน้ต arpeggios ในคอร์ด G7 และ Db7 แค่นั้นพอ ยังไม่ต้องใส่โน๊ตในสเกลหรือพวกโน๊ตครึ่งเสียงอะไรนั่นให้มันวุ่นวายปวดหัวเปล่าๆ เอาตรงๆง่ายๆแบบนี้ก่อน เพราะว่าการฝึกแบบนี้มันเหมาะและง่ายสำหรับคนที่เริ่มหัดฝึกใช้ไอเดียแบบนี้แหละ แล้วตอนฝึกก็ให้เราฝึกโดยให้เพื่อนตีคอร์ด G7  สลับกับคอร์ด Db7 สักประมาณ 15 – 20 นาที (หรือ 1 เบื่อ) ด้วยความเร็วช้าๆประมาณนึงก่อน ส่วนเราก็โซโล่ไป พอเล่นคล่องแล้วก็เปลี่ยนไปเล่นในคีย์ต่างๆ แล้วค่อยเพิ่มความเร็วขึ้น และจงจำไว้ว่าเรื่องสำคัญที่สุดของการฝึกไอเดียใหม่ๆนั้นก็คือการที่เราได้เล่นมันจนจำเสียงได้จนขึ้นใจเพราะว่าการฝึกกับ harmony นั้นเป็นอะไรที่สำคัญมากๆเลยทีเดียว

ตอนผมหัดใหม่ๆอาจารย์ก็ให้ผมฝึกไอเดียของการเล่นแบบ harmonic และ melodic โดยซ้อมกับ metronome เสมอ ซึ่งท่านย้ำนักย้ำหนาว่ามันเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากที่ต้องใช้เลย อย่างในตัวอย่าง G7 และ Db7 นี้ถ้าเราเล่นไปเรื่อยเปื่อยโดยไม่ใช้ metronome มันอาจทำให้เราสร้างท่วงทำนองของดนตรีได้ไม่ดีเท่าที่ควรจะเป็น ตรงกันข้าม จากการที่ผมได้ฝึกซ้อมกับเจ้า metronome อย่างจริงจัง มันช่วยให้ผมสามารถเล่นได้นิ่ง มั่นใจ และสามารถนำไปประยุกต์เข้ากับการเล่นในเพลงได้เป็นอย่างดี ซึ่งรับรองว่าคุณจะรู้สึกได้เลย ทีนี้พอเรานำเอาไอเดียแบบนี้ไปใช้เล่นในวงจริงๆ แน่นอนว่าช่วงแรกๆเราอาจจะรู้สึกแปลกๆกับสุ้มเสียงที่เล่นออกมาโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเราเล่นมันแบบแจมสดๆกับคนอื่น แต่เมื่อเราเล่นบ่อยๆเราก็คุ้นเคยกับสุ้มเสียงที่ได้ยินและก็จะใช้มันได้อย่างมั่นใจมากยิ่งขึ้นนั่นเอง

Tritone Division Soloing – Dom Lick

จากการที่เราสามารถปรับใช้วิธีการฝึกแบบนี้บนคอร์ดอะไรก็ได้นั่นเอง ทีนี้เรามาลองดูกันว่าเราสามารถปรับคอนเซ็ปต์วิธีการโซโล่แบบ tritone division นี้ให้เข้ากับพวกคอร์ด m7 ได้อย่างไรบ้าง ในกรณีนี้จะขอยกตัวอย่างคอร์ด Cm7 ดังนั้นเราจะสร้าง lick ขึ้นมาสักชุดนึง เป็น lick แบบสลับกันระหว่างคอร์ด Cm7 กับติ่งของมันคือ F#m7 โดยมีกติกาอยู่คร่าวๆคือให้เรายืดมั่นในการเล่นโน้ตทั้ง 2 คอร์ดลักษณะนี้ไปเรื่อยๆจนจบประโยค เช่น ถ้าคุณนำมันไปใช้กับคอร์ด G7 ก็ให้ใช้อาร์เพจจิโอของ G7 และ Db7 (อย่าใช้ G7 และDbm7) ซึ่งมันจะช่วยให้การเล่นของเราเป็นไปอย่างลื่นไหลต่อเนื่องกันเป็นชุดทำให้ง่ายต่อการฝึกและผู้ฟังก็สามารถสัมผัสและเข้าถึงการเล่นของเราได้ง่ายด้วยเช่นกัน

จะเห็นได้ว่าการไล่อาร์เพจจิโอขึ้นลงนั้นเป็นวิธีที่เจ๋งที่สุดในการฝึกเทคนิคการเล่นแบบ tritone division แต่เราก็สามารถนำไปปรับใช้กับการเล่นในคอร์ดโทนปกติโดยเพิ่มเติมพวกโน้ตครึ่งเสียงทั้งหลายที่อยู่สูงกว่าและต่ำกว่าโน๊ตอาร์เพจจิโอทุกตัวในคอร์ดCm7 และ F#m7 ได้ด้วยเช่นกัน สำหรับการฝึกก็เหมือนเดิมครับ ให้เด็กๆข้างบ้านช่วยตีคอร์ด Cm7 ให้แล้วลองเล่นโน้ตทั้ง 2 คอร์ดนี้เคลื่อนสลับไปมา นี่ก็เป็นวิธีที่เจ๋งมากวิธีนึงที่จะทำให้การโซโล่ของเรานั้นมันน่าตื่นตาตื่นใจได้เป็นอย่างดี

Tritone Division Soloing – ii-V-I Lick

เอาล่ะ ทีนี้ก็มาถึงหัวข้อสุดท้ายสำหรับซีรี่ส์นี้ นั่นคือการที่เราจะนำวิธีการทั้งหมดที่ได้กล่าวไว้แล้วมาเป็นแนวทางในการสร้างไลน์โซโล่ในแบบ ii-V-I Lick ในคีย์ C Major กันซึ่งให้สังเกตว่ามีการเล่นริทึ่มของโน๊ตที่หลากหลายและกลุ่มจำนวนของโน๊ตที่ใช้ในแต่ละช่วงคอร์ดที่มีจำนวนโน๊ตแต่ละกลุ่มที่ไม่เท่ากัน ตัวอย่างเช่นคุณสามารถเล่นบนคอร์ด Dm ได้หนึ่งจังหวะแล้วเล่นที่คอร์ด Abmสองจังหวะ ฯลฯ เป็นต้น คุณไม่จำเป็นต้องเล่นสองจังหวะในแต่ละคอร์ดก็ได้ซึ่งมันจะทำให้ริทึ่มของโน๊ตที่เล่นออกมานั้นฟังดูดีทีเดียว แต่ถ้าคุณเล่นริทึ่มของโน๊ตในแบบสองจังหวะหรือหนึ่งห้องในแต่ละคอร์ดตลอดเวลามันจะกลายเป็นสิ่งที่ผู้ฟังสามารถคาดเดาได้ว่าเราจะเล่นอะไรต่อไปซึ่งนั่นเป็นอะไรที่เราควรหลีกเลี่ยงในการเล่นของเรา

ในแบบฝึกหัดนี้ผมใช้ D Minor Bebop Scale และ G Dominant Bebop Scale แล้วเพิ่มโน้ต ในสเกลเข้าไปบ้างเล็กน้อย อย่าลืมว่าตอนเริ่มฝึกให้ฝึกกับคอร์ดๆเดียวก่อนเช่นคอร์ด Dm7 โดยใช้คอร์ด tritone ได้แก่ Dm7 and Abm7 แล้วเพิ่มความน่าสนใจของการเล่นด้วยโน้ตจาก Bebop Scale จากนั้นจึงเล่นที่คอร์ด G7 ตามด้วยคอร์ด C Maj7 ที่ละคอร์ด พอคล่องแล้วจึงรวมทุกอย่างเข้าด้วยกันโดยค่อยๆเล่นที่จังหวะช้าๆก่อน

สรุปว่าการโซโล่ด้วยวิธี Tritone Substitution นี้สำหรับบางคนแล้วอาจรู้สึกปวดกบาลได้ในระยะแรกที่ได้ยินเพราะมันจะให้ความรู้สึกที่ “แหกโค้ง” เอาเรื่อง ดังนั้นอาจต้องใช้เวลาเพื่อพัฒนาการได้ยินสำเนียงแปลกๆแบบนี้สักพักหนึ่งถึงจะเริ่มคุ้นเคยกับมันได้

 

(ที่มา; http://mattwarnockguitar.com/modern-jazz-guitar-techniques)

ความคิดเห็น