สมองกับพัฒนาการทางภาษาสำหรับเด็กปฐมวัย

โดย ผศ.ดร.วราลี   โกศัย

มนุษย์เรามีสมองเป็นอวัยวะที่โดดเด่นมากที่สุดของร่างกาย  สมองแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ก้านสมอง (Brain Stem) สมองน้อย (Cerebelium) และสมองใหญ่ (Cerebrum) ซึ่งทำหน้าที่แตกต่างกันออกไป ดังนี้

  1. ก้านสมอง เป็นศูนย์ควบคุมการหายใจ มีเครือข่ายระบบประสาทที่เกี่ยวกับการหลับ ตื่น เป็นที่อยู่ของประสาทสมองที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อ ใบหน้า ลิ้น กล่องเสียง การกลืน
  2. สมองน้อย ทำหน้าที่เกี่ยวกับระบบการทำงานของกล้ามเนื้อ รักษาสมดุลการเคลื่อนไหว การกะระยะ การประสานให้เกิดการเคลื่อนไหวที่ละเอียด และแม่นยำของกล้ามเนื้อแขนขา
  3. สมองใหญ่ แบ่งเป็น 4 ส่วน คือ

3.1 สมองส่วนหน้า (Frontal Lobe) มีหน้าที่เกี่ยวกับการคิด วางแผน ตัดสินใจ สมองส่วนนี้ทำหน้าที่เกี่ยวกับการแก้ปัญหา

3.2 สมองส่วนกลาง (Parietal Lobe) ทำงานเกี่ยวกับการรับรู้และแปลผลข้อมูลที่มาจากประสาทสัมผัสที่มาจากแขน ขา ลำตัว และผิวหนังทั่วร่างกาย เช่น อุณหภูมิ ความร้อน ความเย็น หนัก เบา ความหยาบ ละเอียดของพื้นผิว และมิติทางเรขาคณิตของสิ่งต่าง ๆ

3.3 สมองส่วนขมับ (Temporal Lobe) ทำงานเกี่ยวกับการรับรู้ แปลผลและตัดสินข้อมูลเสียงที่เข้ามาทางหูทั้งหมดที่อยู่รอบ ๆ ตัวเด็ก มี Hippocampus ที่ฝังตัวอยู่ด้านในทำหน้าที่เกี่ยวกับความจำ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Main Memory Circuit ของสมอง

3.4 สมองส่วนหลัง (Occipital Lobe) ทำงานเกี่ยวกับการรับรู้ แปลผลและตัดสินข้อมูลที่ผ่านเข้ามาทางสายตาทั้งหมดจากสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัวเด็ก

สมองของคนเราแบ่งออกเป็น 2 ซีก แต่ละซีกทำงานแตกต่างกัน อธิบายได้ดังนี้

  1. สมองซีกซ้าย ทำงานเกี่ยวกับการเรียนรู้ และทำความเข้าใจเรื่องภาษาทั้งหมด การฟัง การพูด การอ่าน และการเขียน
  2. สมองซีกขวา ทำงานเกี่ยวกับการเรียนรู้ และทำความเข้าใจเรื่องแผนที่ และมิติทางเรขาคณิตของสิ่งแวดล้อมของตัวเด็ก รวมทั้งทัศนะทางศิลปะ
โดย ผศ.ดร.วราลี   โกศัย

 

 

สมองของเด็กปฐมวัยกับการเรียนรู้ภาษา

สมองของเด็กปฐมวัย ประกอบด้วยเซลล์จำนวนมหาศาล เด็กแรกเกิดมีเซลล์สมองประมาณหนึ่งแสนล้านเซลล์ สมองของเด็กปฐมวัยกำลังเติบโตเมื่ออายุ 3 ปี ขนาดของสมองของเด็กเท่ากับ 3 ใน 4 ของสมองผู้ใหญ่ ภายใน 5 ปี สมองเด็กโตเป็น 9 ใน 10 ของขนาดสมองผู้ใหญ่ แต่ร่างกายเติบโตช้าเมื่อเทียบกับสมอง เด็กวัยนี้สมองและศีรษะเติบโตรวดเร็วยิ่งกว่าส่วนใด ๆ ของร่างกาย สมองถูกออกแบบมาเพื่อการเรียนรู้เพื่อที่จะอยู่รอดเป็นสำคัญ และความอยู่รอดนี่แหละเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เกิดกระบวนการทำงานของสมอง อันเป็นที่มาของการเรียนรู้ต่าง ๆ เด็กเล็ก ๆ เริ่มเรียนรู้ที่จะยิ้ม หัวเราะ รับประทานอาหาร คลาน นั่ง เดิน พูด สมองรับรู้และเปลี่ยนแปลงตัวเองก็เพื่อจะมีชีวิต (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน,ม.ป.ป. , หน้า 12 – 15)

สมองของเด็กปฐมวัยได้รับความสนใจและถูกอธิบายไว้มากที่สุดในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา คำอธิบายนั้นชี้ว่าวัยแรกเกิด ถึง 5 ปีแรก เครือข่ายการเชื่อมต่อของเซลล์ในสมองเด็กจะมีพัฒนาการอย่างรวดเร็ว และในอัตราความเติบโตที่เหลือเชื่อ เครือข่ายเซลล์สมองที่เชื่อมโยงกันนี้มีความสำคัญมากต่อการเรียนรู้ภาษาในเด็กปฐมวัย และวัยประถมสามารถเรียนรู้ภาษาพร้อมกันได้ถึง 7 ภาษา นักวิทยาศาสตร์อธิบายเพิ่มเติมว่า ความจริงเด็กมีศักยภาพที่จะพูดได้ถึง 5,000 ภาษา เท่าที่มีอยู่ในโลก เพราะทั้ง 5,000 ภาษานี้แท้ที่จริงประกอบด้วยเสียงเพียง 50 เสียง ซึ่งนำมาผสมกันเป็นคำต่าง ๆ แต่ความสามารถนี้ของเด็กจะค่อย ๆ หมดไปเมื่อเด็กโตขึ้น เนื่องจากเด็กไม่ได้ใช้มัน พัฒนาการของสมองเด็กปฐมวัยมีประสิทธิภาพสูงสุด คือการรับรู้ความรู้สึกสัมผัสการจัดการเรียนรู้เด็กปฐมวัยจึงเน้นที่การเล่น การเคลื่อนไหว การเรียนสัมผัสของจริง โดยมีแนวการจัดอย่างครบถ้วน ดังนี้ (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน,ม.ป.ป. , หน้า 14)

  • เด็กทุกคนต้องได้เคลื่อนไหว
  • จำนวนเวลาในการเคลื่อนไหวต้องมากพอ
  • อุปกรณ์ที่ใช้ประกอบการเคลื่อนไหวต้องเพียงพอสำหรับทุกคน
  • เด็กทุกคนต้องได้เคลื่อนไหวทุกท่วงท่า ตามที่หลักสูตรกำหนด

 

 

โดย ผศ.ดร.วราลี   โกศัย

 

 

การสอนให้เด็กปฐมวัยรู้จักการคิด

การสอนคิดเกิดจากสมองรับรู้ข้อมูลผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 ก่อรูปเป็นวงจรการคิด รูปแบบการคิดจึงเกิดจากการจับต้องสัมผัส สมองต้องมีประสบการณ์ตรงมาก่อน การคิดคือจินตนาการ เป็นการประมวลผลข้อมูลจากโลกภายนอกแล้วสร้างภาพขึ้นมาในสมองของตนเอง เมื่อสมองทำงานประมวลข้อมูลที่เคยรับรู้การคิดก็เกิดขึ้น สมองเด็กปฐมวัยควรได้ฝึกการตั้งคำถาม ครูต้องหาวิธีการจัดประสบการณ์และกระตุ้นเด็กให้คิด ทดลองสิ่งที่ตัวเองคิด เพื่อหาคำตอบ ครูสามารถกระตุ้นหรือสอนให้เด็กคิดได้ง่าย ๆ ดังนี้

  1. ให้คิดผ่านการเล่นต่าง ๆ ขณะเล่นสมองจะพยายามพลิกแพลงให้การเล่นสนุกขึ้นซับซ้อนขึ้น คิดกระบวนการและวิธีแก้ปัญหา
  2. ให้คิดจากเหตุการณ์ใกล้ตัว ที่ดีที่สุดคือเป็นเหตุการณ์ที่น่าตื่นเต้น น่าประหลาดใจ น่าสนใจ สำหรับเด็ก เด็กเพิ่งได้พบและสัมผัสโดยตรง
  3. ให้คิดจากความสัมพันธ์ระหว่างตนเอง เพื่อน และโรงเรียน ครูจำเป็นต้องแนะนำชวนคุย พูดถึงความรู้สึกของตนเองให้เด็กนึกคิดตาม เช่น เพื่อนที่รักมากที่สุด มุมที่ชอบที่สุดในโรงเรียน เป็นต้น
  4. ให้คิดผ่านอุปกรณ์และเครื่องมือ การใช้อุปกรณ์ทำให้สนใจเรื่องรูปร่าง จำนวน น้ำหนัก สี กลิ่น เพราะลักษณะและความน่าสนใจของอุปกรณ์เป็นตัวชี้นำให้เด็กคิดได้ จำแนกได้ จัดกลุ่มได้ คิดถึงประโยชน์ได้ เป็นต้น
  5. ให้คิดผ่านธรรมชาติและปรากฏการณ์ เช่น ฝนตก มีพายุ มีลูกเห็บ ความร้อน แห้งแล้ง แดดจ้า ความเย็น ความหนาวเหน็บ สิ่งเหล่านี้เป็นความรู้สึกที่เด็กสัมผัสได้ ทำให้คิดต่อเนื่องโยงไปสู่ประสบการณ์ข้อมูลที่มีอยู่เดิมได้ง่าย

การกระตุ้นให้สมองคิดจะออกมาในรูปของการเล่น การสร้าง การทำงาน การเคลื่อนไหว นำไปสู่การพูด ชวนพูด เด็กจะสามารถตัดต่อ เติม พูดต่อ ขยายความคิดออกไปได้อีกมาก

การจัดการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับพัฒนาการด้านภาษาของเด็กปฐมวัย

โดย ผศ.ดร.วราลี   โกศัย

 

             การจัดการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับพัฒนาการด้านภาษา พัฒนาการด้านภาษาเป็นพัฒนาการด้านสติปัญญาที่จำเป็นที่สุดสำหรับเด็กปฐมวัย เพราะภาษาเป็นเครื่องมือสำหรับการสื่อสาร เพื่อที่จะมีชีวิตอยู่ในสังคม การพัฒนาภาษาไม่ใช่เป็นการฝึกให้เด็กฟัง พูด อ่าน และเขียน แต่การพัฒนาภาษาเป็นพัฒนากระบวนการคิดและการสื่อสารไปพร้อม ๆ กัน

การสอนภาษาตั้งต้นที่การพูดคุย สนทนากันและถัดไปก็คือ การอ่านให้ฟัง ควรเลือกหนังสือที่ดีที่สุด ที่เหมาะสมกับเด็ก หนังสือเล่มแรก ๆ ควรเป็นคำคล้องจอง บทกลอน บทร้องเล่น และบทเพลงง่าย ๆ สั้น ๆ มาอ่านให้เด็กฟัง ครูไม่ต้องกังวลว่าเด็กต้องอ่านตาม ต้องตอบคำถามครูและต้องจำเรื่องให้ได้ เพราะเมื่ออ่านให้ฟังติดต่อกันยาวนานพอ เด็กจะเริ่มจดจำเรื่องได้เอง เด็กจะหยิบหนังสือมาและเปิดอ่าน บางคนจำเนื้อหาได้ทั้งเล่ม การสะกดได้ตามมาทีหลัง การสอนอ่าน และสอนสะกดคำทำได้ง่ายมาก เมื่อเด็กรักที่จะอ่าน นอกจากการเลือกหนังสือที่เหมาะกับเด็ก วิธีการอ่านของครูมีความสำคัญไม่ใช่อ่านผ่าน ๆ ไป จบ ๆ ไป แต่ต้องอ่านให้เด็กประทับใจใช้น้ำเสียงสูงต่ำ เว้นระยะตามเหตุการณ์ การอ่านให้ฟังครั้งแรก ครูต้องกล่าวถึงชื่อหนังสือ ชื่อผู้เขียน ชื่อผู้วาดภาพ เปิดหนังสือให้ดู และชี้ขณะที่อ่านโดยหันหนังสือไปในทิศทางที่เด็กปฐมวัยนั่ง และควรศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับการจัดวางหนังสือ พื้นที่การอ่าน และบรรยากาศแวดล้อมด้วย

ความสำเร็จของการอ่านในช่วงแรกอยู่ที่การปลุกเร้าความรู้สึกให้เด็กอยากอ่าน  กิจกรรมหลักการอ่านจะย้ำความรู้สึกดังกล่าวให้มากขึ้น ได้แก่ การอ่านบนกระดานเคลื่อนที่ได้ การหาตำแหน่งของคำที่หายไป การเล่นเกม การเคลื่อนไหวทำท่าทางประกอบการอ่าน และมีการอ่านแบบต่าง ๆ ต่อ ๆ มา คืออ่านด้วยกัน อ่านเป็นกลุ่ม อ่านเป็นคู่ อ่านเดี่ยว อ่านอิสระ การอ่านทำให้เด็กรู้จักคุ้นเคยกับภาพ ตัวอักษร สัญลักษณ์ต่าง ๆ เป็นบรรยากาศทางภาษาที่ทำให้เด็กอยากเรียนรู้ อยากแสดงความรู้สึกจากสิ่งที่อ่าน ออกมาเป็นคำพูด และการเขียนต่อไป

สมองกับการเรียนรู้ภาษา พรพิไล เลิศวิชา และอัครภูมิ จารุภากร (2551 : อ้างถึงในสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, 2552, หน้า 15) ได้สรุปขั้นตอนสำคัญที่ช่วยให้เด็กพัฒนาการรับรู้เสียงไว้ ดังนี้

  1. สมองของเด็กมีความจำผ่านการฟัง เด็กจะจำบทร้องเล่น จำบทกลอนง่าย ๆ ได้ การจดจำ และจำแนกเสียงนี้เกิดขึ้นเองโดยเด็กไม่ต้องใช้ความพยายาม สิ่งที่ช่วยให้สมองรับรู้แบบแผนของเสียงได้อย่างรวดเร็ว คือ เนื้อหาที่สนุก ตลก ง่าย และจังหวะที่ชวนฟัง
โดย ผศ.ดร.วราลี   โกศัย

 

2. สมองของเด็กต้องการรับข้อมูลเสียงพร้อมกับมองเห็นภาพ เมื่อสมองตำแหน่งที่รับรู้เสียงและตำแหน่งที่รับรู้ภาพทำงานพร้อมกัน การเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพก็เกิดขึ้น ดังนั้นหนังสือสำหรับเด็กจึงเน้นหนังสือที่มีภาพประกอบชัดเจน เมื่อออกเสียงอ่านให้เด็กฟัง เด็กก็มองเห็นภาพคู่กันไป และเข้าใจความหมายได้ทันที

  1. สมองเด็กเริ่มรู้จักเสียงที่เหมือนและแตกต่าง การฟังบทกลอนสั้น ๆ บทร้องเล่นและบทกล่อมเด็ก ช่วยให้เด็กเริ่มรู้จักเสียงที่เหมือน และแตกต่างกันได้ง่าย เพราะสมองของเด็กจดจำเสียงได้ทั้งหมดในขณะที่ตามองเห็นคำที่มีแบบแผนต่างกัน ทำให้เด็กรู้ว่าเสียงที่ต่างกันย่อมใช้ตัวอักษรที่ต่างกันออกไป
  2. สมองของเด็กสามารถเรียนรู้จังหวะของคำได้จากการฟังซ้ำ ๆ และเด็กจะรู้เองโดยอัตโนมัติว่าเสียงยาว ๆ ที่ได้ยินนั้นที่แท้แล้วแยกออกเป็นเสียงสั้น ๆ หลายเสียง เช่น คำว่า “แมงมุม” มี 2 เสียง “นกขุนทอง” มี 3 เสียง การจัดระบบรับรู้เสียงเหล่านี้ เด็กรับรู้โดยไม่ได้ตั้งใจ เป็นการรับรู้เอง (Subconscious Learning)  เป็นสิ่งสำคัญที่นำไปสู่การเข้าใจเรื่องพยางค์ในสมองของเด็ก

สมองพัฒนาทักษะทางภาษาของเด็กปฐมวัยได้โดยผ่านกิจกรรมการเคลื่อนไหวและจังหวะ

จากการเรียนรู้เรื่องของสมองเราพบว่า สมองน้อย ทำหน้าที่เกี่ยวกับระบบการทำงานของกล้ามเนื้อ รักษาสมดุลการเคลื่อนไหว การกะระยะ การประสานให้เกิดการเคลื่อนไหวที่ละเอียด และแม่นยำของกล้ามเนื้อแขนขา จึงนำมาสู่การพัฒนาเด็กปฐมวัยโดยผ่านกิจกรรมการเคลื่อนไหวและจังหวะ การเคลื่อนไหวและจังหวะที่ครูจัดให้เด็กปฐมวัยได้ประสบการณ์นั้น ส่วนใหญ่ก็จะมีทักษะทางภาษาเข้าไปเกี่ยวข้องเสมอ เพราะครูต้องจัดประสบการณ์ต่าง ๆ ผ่านทักษะทางภาษา ใช้ทั้งการฟัง พูด อ่านและเขียน สื่อสารกับเด็กปฐมวัยเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน

กิจกรรมเคลื่อนไหวและจังหวะ เป็นกิจกรรมที่จัดให้เด็กได้เคลื่อนไหวส่วนต่าง ๆ ของร่างกายอย่างอิสระตามจังหวะ โดยใช้การฟังเสียงเพลง คำคล้องจอง ซึ่งจังหวะและดนตรีที่ใช้ประกอบ ได้แก่ เสียงตบมือ เสียงเพลง เสียงเคาะไม้ เคาะเหล็ก รำมะนา กลอง ฯลฯ  มาประกอบการเคลื่อนไหว เพื่อส่งเสริมให้เด็กเกิดจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ เด็กวัยนี้ร่างกายกำลังอยู่ในระหว่างพัฒนา การใช้ส่วนต่าง ๆ ของร่างรายยังไม่ผสมผสาน หรือประสานสัมพันธ์กันอย่างสมบูรณ์ การเคลื่อนไหวของเด็กมีลักษณะต่าง ๆ ดังนี้

  1. ช้า ได้แก่ การคืบ คลาน
  2. เร็ว ได้แก่ การวิ่ง
  3. นุ่มนวล ได้แก่ การไหว้ การบิน
  4. ขึงขัง ได้แก่ การกระทืบเท้าดัง ๆ ตีกลองดัง ๆ
  5. ร่าเริงมีความสุข ได้แก่ การตบมือ หัวเราะ
  6. เศร้าโศกเสียใจ ได้แก่ สีหน้า ท่าทาง

ฯลฯ

โดย ผศ.ดร.วราลี   โกศัย

 

 

ทิศทางการเคลื่อนไหว

  1. เคลื่อนไหวไปข้างหน้า และข้างหลัง
  2. เคลื่อนไหวไปข้างซ้าย และข้างขวา
  3. เคลื่อนไหวตัวขึ้นและลง
  4. เคลื่อนไหวรอบทิศ

 

รูปแบบการเคลื่อนไหว

  1. การเคลื่อนไหวพื้นฐาน ได้แก่ การเคลื่อนไหวตามธรรมชาติของเด็กมี 2 ประเภท
    • การเคลื่อนไหวอยู่กับที่ ได้แก่ ตบมือ ผงกศีรษะ ขยิบตา ชันเข่า เคาะเท้า เคลื่อนไหวมือและแขน มือและนิ้วมือ เท้าและปลายเท้า
    • การเคลื่อนไหวเคลื่อนที่ ได้แก่ คลาน คืบ เดิน วิ่ง กระโดด ควบม้า ก้าวกระโดด
  2. การเลียนแบบ มี 4 ประเภท

2.1 เลียนแบบท่าทางสัตว์

2.2 เลียนแบบท่าทางคน

2.3 เลียนแบบเครื่องยนต์กลไก และเครื่องเล่น

2.4 เลียนแบบปรากฏการณ์ธรรมชาติ

  1. การเคลื่อนไหวตามบทเพลง ได้แก่ การเคลื่อนไหวหรือทำท่าทางประกอบเพลง เช่น เพลงไก่ เพลงข้ามถนน ฯลฯ
  2. การทำท่าทางบริหารประกอบเพลง ได้แก่ การทำท่าทางกายบริหารตามจังหวะและทำนองเพลง หรือ คำคล้องจอง
  3. การเคลื่อนไหวเชิงสร้างสรรค์ ได้แก่ การเคลื่อนไหวที่ให้เด็กคิดสร้างสรรค์ท่าทางขึ้นเอง อาจชี้นำด้วยการป้อนคำถามเคลื่อนไหวโดยใช้อุปกรณ์ประกอบ เช่น ห่วงหวาย แถบผ้า ริบบิ้น ถุงทราย ฯลฯ
โดย ผศ.ดร.วราลี   โกศัย

 

  1. การเล่นหรือการแสดงท่าทางตามคำบรรยาย เรื่องราว ได้แก่ การเคลื่อนไหว หรือแสดงท่าทางตามจินตนาการจากเรื่องราวหรือคำบรรยายที่ผู้สอนเล่า
  2. การปฏิบัติตามคำสั่ง และข้อตกลง ได้แก่ การเคลื่อนไหวหรือทำท่าทางตามสัญญาณ หรือคำสั่งตามที่ได้ตกลงไว้ก่อนเริ่มกิจกรรม
  3. การฝึกทำท่าทางเป็นผู้นำ ผู้ตาม ได้แก่ การเคลื่อนไหวหรือทำท่าทางจากความคิดสร้างสรรค์ของเด็กเอง แล้วให้เพื่อนปฏิบัติตามกิจกรรม

ตัวอย่างการเขียนแผนการจัดประสบการณ์กิจกรรมเคลื่อนไหวและจังหวะที่เกี่ยวข้องกับทักษะทางภาษาสำหรับเด็กปฐมวัย มีดังต่อไปนี้

 

ตัวอย่างกิจกรรมเคลื่อนไหวและจังหวะ

 

กิจกรรมเคลื่อนไหวตามจินตนาการ

หน่วยหนูรักโรงเรียน

 

จุดประสงค์การเรียนรู้

  1. เพื่อให้เด็กสามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้อย่างคล่องแคล่ว
  2. เพื่อให้เด็กปฏิบัติกิจกรรมกับเพื่อน อย่างสนุกสนาน
  3. เพื่อให้เด็กฝึกความอดทนรอคอย
  4. เพื่อให้เด็กฝึกฟังและคิดจินตนาการท่าทางตามคำบรรยาย

สาระการเรียนรู้

สาระที่ควรรู้

ฝึกเรื่องของการฟังและเคลื่อนไหวตามจินตนาการ

 

โดย ผศ.ดร.วราลี   โกศัย

 

 

ประสบการณ์สำคัญ

ด้านร่างกาย : เคลื่อนไหวร่างกายประกอบคำบรรยาย

ด้านอารมณ์ จิตใจ : สนุกสนาน

ด้านสังคม : ร่วมกิจกรรมกับผู้อื่น

ด้านสติปัญญา : ฝึกฟัง มีความคิดสร้างสรรค์ตามคำบรรยาย

วิธีดำเนินกิจกรรม

ขั้นนำ

  1. กิจกรรมพื้นฐาน ให้เด็กเคลื่อนไหวร่างกายไปทั่วบริเวณอย่างอิสระ ตามจังหวะที่ครูเคาะ เมื่อได้ยินสัญญาณการเคาะ 2 ครั้งให้หยุดเคลื่อนไหวร่างกายท่านั้นทันที

ขั้นดำเนินกิจกรรม

  1. สร้างข้อตกลงกับเด็ก ๆ โดยให้เด็กเลือกสมมติยานพาหนะที่เด็ก ๆ ชอบ และขับขี่ยานพาหนะด้วยความปลอดภัย
  2. บรรยาย เรื่องการมาโรงเรียนของเด็ก ๆ ดังนี้

“ ในขณะที่เด็ก ๆ เดินทางมาโรงเรียนด้วยยานพาหนะ (ทำท่าทางตามยานพาหนะที่เด็ก ๆ ชอบ) อยู่นั้น ได้เจอกับคุณตำรวจจราจรได้ให้สัญญาณหยุดรถ หลังจากนั้นก็ขับต่อไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งได้พบกับแม่เป็ดที่กำลังเดินข้ามถนนอยู่ หลังจากที่จอดรถให้แม่เป็ดข้ามถนนแล้วเด็ก ๆ ก็ออกเดินทางต่อไป  ขับต่อไปเรื่อย ๆ จนถึงสะพานที่ยาวมากๆ เด็ก ๆ นำรถข้ามสะพานจนถึงส่วนที่สูงที่สุดของสะพานซึ่งสูงและชันมาก ๆ ขับต่อไปเรื่อย ๆ ขณะนี้ถึงจุดที่เด็ก ๆ ต้องลงจากสะพานที่สูงชันแล้ว ระวังดี ๆ นะ แล้วเด็ก ๆ ก็ขับรถไป   เรื่อย ๆ จนถึง โรงเรียนของเราแล้ว เด็ก ๆ ดีใจมั้ยคะ”

  1. ให้เด็กปฏิบัติตามข้อ 2 ซ้ำอีกรอบ

ขั้นสรุป

  1. เด็กและครูช่วยกันสรุปเหตุการณ์ที่เด็กปฏิบัติกิจกรรม
โดย ผศ.ดร.วราลี   โกศัย

 

 

สื่อ และแหล่งการเรียนรู้

เครื่องเคาะจังหวะ

การประเมินพัฒนาการ

สังเกต

  1. การเคลื่อนไหวร่างกาย
  2. ความสนุกสนาน
  3. การร่วมทำกิจกรรมกับผู้อื่น
  4. การฟัง ความคิดสร้างสรรค์

 

กิจกรรมเคลื่อนไหวตามข้อตกลง

หน่วยหนูรักโรงเรียน

 

จุดประสงค์การเรียนรู้

  1. เพื่อให้เด็กสามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้อย่างคล่องแคล่ว
  2. เพื่อให้เด็กปฏิบัติกิจกรรมกับเพื่อน อย่างสนุกสนาน
  3. เพื่อให้เด็กฝึกความอดทนรอคอย
  4. เพื่อให้เด็กฝึกฟังและปฏิบัติตามข้อตกลง

สาระการเรียนรู้

สาระที่ควรรู้

ฝึกเรื่องของการฟังและเคลื่อนไหวตามข้อตกลง

 

โดย ผศ.ดร.วราลี   โกศัย

 

 

ประสบการณ์สำคัญ

ด้านร่างกาย : เคลื่อนไหวร่างกายตามข้อตกลง

ด้านอารมณ์ จิตใจ : สนุกสนาน

ด้านสังคม : ร่วมกิจกรรมกับผู้อื่น

ด้านสติปัญญา : ฝึกฟัง ปฏิบัติตามข้อตกลงได้

วิธีดำเนินกิจกรรม

ขั้นนำ

  1. กิจกรรมพื้นฐาน ให้เด็กเคลื่อนไหวร่างกายไปทั่วบริเวณอย่างอิสระ ตามจังหวะที่ครูเคาะ เมื่อได้ยินสัญญาณการเคาะ 2 ครั้งให้หยุดเคลื่อนไหวร่างกายท่านั้นทันที

ขั้นดำเนินกิจกรรม

  1. สร้างข้อตกลงกับเด็ก โดยให้เด็ก ๆ เลือกกำหนดมุมในห้องเรียนทั้งหมด 3 มุม เป็นมุมที่เกี่ยวข้องกับยานพาหนะที่พาเด็กมาโรงเรียน คือ มุมจักรยาน  มุมมอเตอร์ไซด์  มุมรถยนต์
  2. ให้เด็กเคลื่อนไหวร่างกายตามเสียงเคาะจังหวะ เมื่อครูหยุดเคาะให้เด็กๆ รอฟังว่าครูจะบอกว่าให้ไปมุมอะไร หรือครูอาจจะให้เด็กเลือกมุมที่เด็ก ๆ ชอบ
  3. ให้เด็กปฏิบัติตามข้อ 2 ซ้ำอีกรอบ

ขั้นสรุป

  1. เด็กและครูช่วยกันสรุปเหตุการณ์ที่เด็กปฏิบัติกิจกรรม

สื่อ และแหล่งการเรียนรู้

เครื่องเคาะจังหวะ

การประเมินพัฒนาการ

สังเกต

  1. การเคลื่อนไหวร่างกาย
โดย ผศ.ดร.วราลี   โกศัย

 

2.  ความสนุกสนาน

  1. การร่วมทำกิจกรรมกับผู้อื่น
  2. การฟัง ปฏิบัติตามข้อตกลง

 

เอกสารอ้างอิง

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน. (2552). การส่งเสริมศักยภาพทางภาษาและการรู้หนังสือ

         สำหรับเด็กปฐมวัย. กรุงเทพมหานคร : ชุมชนสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย.

. (ม.ป.ป.). การจัดการศึกษาปฐมวัยตามหลักสูตรและการจัดการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับ

         พัฒนาการทางสมอง.  กรุงเทพมหานคร : ชุมชนสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย. (อัดสำเนา)

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ. (2542). พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542.

โดย ผศ.ดร.วราลี   โกศัย

 

กรุงเทพมหานคร : พริกหวานกราฟฟิค.

ความคิดเห็น