บทคัดย่อ |
กะลามะพร้าวเป็นวัสดุทิ้งหลังจากการเผามะพร้าวของกลุ่มผลิตมะพร้าวเผาบ้านหนองยายพิมพ์ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ ทำให้ได้ถ่านกะลามะพร้าวมีคุณสมบัติดูดสารที่ตกค้างบนผิวหนัง และรักษาความสมดุลของผิว จึงเหมาะสำหรับนำมาเป็นส่วนประกอบของสบู่ที่มีส่วนผสมของพืชสมุนไพรในจังหวัดบุรีรัมย์ ดังนั้นงานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตสบู่จากถ่านกะลามะพร้าวร่วมกับว่านตาลเดี่ยวและย่านาง และศึกษาความพึงพอใจผลิตภัณฑ์สบู่ ดำเนินการผลิตสบู่ 5 สูตร ได้แก่ สบู่กะลามะพร้าว สบู่ว่านตาลเดี่ยว สบู่ย่านาง สบู่กะลามะพร้าวกับว่านตาลเดี่ยว และสบู่กะลามะพร้าวกับย่านาง ตรวจสอบลักษณะทางกายภาพและเคมีของสบู่ก่อนนำไปทดสอบความ พึงพอใจจากบุคลากรในมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ จำนวน 40 คน ได้มาจากความสมัครใจ ผลศึกษาพบว่า ค่ากรดด่างมีค่าระหว่าง 9.86-9.96 ปริมาตรฟอง 68.33-80.67 มิลลิลิตร ความคงทนฟอง 64.67-75.00 มิลลิลิตร และการสึกกร่อนร้อยละ 40.65-47.01 สบู่ทุกสูตรไม่มีสิ่งแปลกปลอม ซึ่งมีคุณภาพตามเกณฑ์มาตรฐาน มผช.94/2552 กลุ่มตัวอย่างพึงพอใจด้านการไม่ระคายเคือง กลิ่น ปริมาณฟองสบู่มากที่สุด รองลงมา ได้แก่ ประสิทธิภาพการชำระล้างสิ่งสกปรก สี และความแข็งของก้อนสบู่ ตามลำดับ สรุปได้ว่า กะลามะพร้าวเป็นวัสดุเหลือทิ้งจากการเผามะพร้าวของกลุ่มผลิตมะพร้าวบ้านหนองยายพิมพ์ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ ที่สามารถนำมาเป็นวัตถุดิบร่วมกับสมุนไพรในท้องถิ่นเพื่อผลิตเป็นสบู่ที่มีคุณภาพและเพิ่มรายได้ให้กับชุมชน |
อ่านฉบับเต็ม สบู่ถ่านกะลามะพร้าวร่วมกับว่านตาลเดี่ยวและย่านาง
ความคิดเห็น