ตั้งแต่การกำเนิดตัวอักษรชุดแรกในยุคอียิปต์โบราณ วิวัฒนาการมาจนทำให้เกิดอักษรอื่น ๆ ตามขึ้นมาเพื่อใช้สื่อสาร ซึ่งมีความแตกต่างกันออกไปในแต่วัฒนธรรม และภูมิภาคอื่น ๆ ทั่วโลก นอกจากตัวอักษรแล้วก็ยังต้องมี “นักเขียน” ที่ใช้ตัวอักษรสร้างผลงานเขียนกันจนก่อให้เกิดผลงานขึ้นมามากมาย ตั้งแต่บทกวี วรรณกรรม นิทาน ตำรา สิ่งพิมพ์ หนังสือ นิตยสาร อีบุ๊ค ไปจนถึงสเตตัสในโชเชียลมีเดีย โดยในปัจจุบันการเขียนมีความเปลี่ยนแปลงไปตามบริบทของรูปแบบสื่อนั้น ๆ โดยบทความในรูปแบบดิจิทัล จะมีความแตกต่างกับการเขียนในสื่อ offline มากพอสมควร และมีความเฉพาะเจาะจงไปหลากหลายแบบแยกย่อยกันไปในแต่ละแพลตฟอร์ม
คุณสมบัติที่ดีในการเป็นนักเขียนยุคดิจิทัล
บทความนี้จะแนะนำไปทางด้านของบทความที่ใช้ในสื่อดิจิทัลต่าง ๆ โดยนักเขียนในยุคดิจิทัลนี้นอกจากจะต้องเขียนเนื้อหาที่มีคุณภาพแล้วยังต้องรู้จัก “ออกแบบประสบการณ์ในการอ่าน” ของผู้อ่านอีกด้วย เพราะในปัจจุบันผู้คนมีความใจร้อน และสมาธิสั้น ถ้าหากว่าคอนเทนต์ของคุณไม่สามารถดึงดูดความสนใจของผู้เสพได้ภายในระยะเวลาสองวินาที ก็เท่ากับว่าคอนเทนต์นั้นไม่สามารถทำหน้าที่ของมันได้อย่างเต็มที่ ถึงแม้ว่าจะเขียนดีแค่ไหน คิดมาดีแค่ไหน ก็ถือว่าล้มเหลว
วิ่งให้ไว ตามเทรนด์ให้ทัน
เคยอ่านกระทู้พันทิปที่อยู่มาวันหนึ่งกลายเป็นข่าวดังไหม ? หรือข่าวชาวบ้านที่เราไม่จำเป็นต้องรู้ก็ได้ แต่กลายเป็นว่าทุกคนในตลาดกำลังพูดถึงข่าวนี้กันอยู่ ถ้าคุณไม่รู้เรื่องที่พวกเขาคุยกันก็แสดงว่าคุณกำลังตกข่าวนั่นเอง นักเขียนที่ดีมักจะเลือกหยิบจับคอนเทนต์ใกล้ตัว หรือโหนข่าวที่กำลังเป็นกระแสอยู่มาหยิบจับขยี้ขยายในมิติที่ต่างออกไปตามมุมมองที่ตัวเองถนัด ไม่ว่าจะเป็นดราม่าบนโลกออนไลน์ หรือพาดหัวข่าวรายวัน แบบนี้เรียกว่า “Newsjacking” เป็นการใช้ประโยชน์ของกระแสข่าวนั้น ๆ นำมาใส่ไว้ในคอนเทนต์ของตัวเอง ซึ่งถ้าทำดี คอนเทนต์นั้นก็จะสามารถเกาะกระแสร่วมไปได้ แต่ถ้าทำไม่ดีก็ถูกด่าเละ ฉะนั้นวิธีการนี้ต้องระมัดระวังและรอบคอบในการหยิบจับมาใช้พอสมควร ถ้าหากคิดจะใช้วิธีนี้แล้วต้องทำให้ดูสร้างสรรค์ มีรสนิยม ที่สำคัญต้องดูจังหวะและกาลเทศะให้ดี ๆ ไม่เช่นนั้นแทนที่จะปัง อาจจะกลายเป็นแป้กก็ได้
ติดอาวุธให้พร้อม แล้วอัพเลเวลตัวเองซะ
สื่อในยุคเก่าเราจะเห็นได้ชัดว่าจะมีการแบ่งหน้าที่ในการทำงานอย่างชัดเจน นี่คือคนเขียน นั่นคือช่างภาพ พี่คนนี้ทำกราฟฟิก คนนู่นคือบรรณาธิการ แต่พอมายุคสมัยนี้ที่คอนเทนต์ต้องการความรวดเร็ว โลกเลยต้องการคนที่จะสามารถจัดการทุกอย่างได้ด้วยตัวคนเดียวแทบทุกสิ่งอย่าง ไม่ว่าจะเป็นหาข่าว เขียน ถ่ายภาพนิ่ง วิดีโอ ทำกราฟฟิก รู้จักใช้เครื่องมือทางด้านดิจิทัลและโชเชียล ทุกอย่างต้องสามารถทำได้ด้วยตัวคนเดียว เราเรียกตำแหน่งที่เกือบจะเหมือนซุปเปอร์แมนนี้ว่า “Content Creator” นอกจากจะต้องทำทุกอย่างที่กล่าวมาได้แล้ว คุณยังต้องมีความรู้ทางด้าน Digital Marketing อีกด้วย คุณต้องสามารถสร้างคอนเทนต์โดยอ้างอิงจากพฤติกรรมของคนบนโลกออนไลน์ วิเคราะห์ได้ว่าเป็นคนกลุ่มไหน ชอบอะไร ต้องหมั่นคอยเช็คฟีดแบคของผลงานอยู่เสมอไม่ว่าจะเป็นยอดการเข้าถึง ยอดปฏิสัมพันธ์ มีมากน้อยขนาดไหน เรื่องไหนที่คนชอบ เรื่องไหนที่ได้รับความนิยมน้อย คุณต้องรู้เรื่องพวกนี้เพื่อที่จะได้นำมาวิเคราะห์ และสามารถเอาข้อมูลในส่วนนี้มาเพื่อสร้างคอนเทนต์ที่ดี และเป็นที่นิยมในโลกออนไลน์ต่อไป
แล้วการเขียนที่ดีเป็นอย่างไร ?
สิ่งหนึ่งที่จะต้องคิดก่อนเขียนก็คือเขียนเพื่ออะไร ? เขียนไปทำไม ? เขียนให้ใคร ? โดยเฉพาะกับการเขียนลงบนดิจิทัลแพลตฟอร์มด้วยแล้ว เราจำเป็นที่จะต้องเข้าใจกลไกและสิ่งแวดล้อมบนโลกออนไลน์ให้ดีเสียก่อนแล้วจึงจะเริ่มลงมือเขียนได้ แต่ถ้าจะให้ต้นเริ่มเขียนงานได้เลยก็ไม่ใช่เรื่องง่ายดายนัก โดยแต่ละตำรา แต่ละสถาบัน แม้กระทั้งครูบาอาจารย์ก็ยังให้นิยามการเขียนที่ดีไม่เหมือนกัน ทีนี้เรามาทำความเข้าใจถึงหลักการเขียนที่ดีก่อนที่เราจะผลิตผลงานออกมาได้อย่างมีคุณภาพกันดูสักหน่อยดีกว่า ว่ามันมีหลักการและกลเม็ดเคล็ดวิธีอะไรบ้างที่จะทำให้งานเขียนของคุณนั้นมีประสิทธิภาพสูงสุด
1. ชื่อต้องดี
ชื่อเรื่องถือข้อบ่งชี้ว่าบทความนั้นน่าอ่านหรือไม่ ถ้าตั้งชื่อได้ไม่ดี ไม่โดน ผู้อ่านก็จะผ่านแล้วผ่านเลย การตั้งชื่อหัวข้อที่ดีนั้นต้องสั้น ๆ แต่ได้ใจความ สามารถสรุปภาพรวมของเนื้อหาภายในได้ในไม่กี่ตัวอักษร ไม่ใช้คำฟุ่มเฟือย โดยจะขอยกตัวอย่างรูปแบบหัวเรื่องที่นิยมใช้กัน ดังนี้
สรุปเนื้อหา อ่านไม่เกินสองประโยค รู้เรื่อง นิยมใช้กันในบทความประเภทข่าวที่เป็นการแสดงข้อเท็จจริงในเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น โดยสามารถอ่านแล้วเข้าใจเหตุการณ์ทั้งหมดโดยไม่จำเป็นจะต้องอ่านเนื้อหาทั้งหมดก็ได้
ตั้งคำถามให้ผู้อ่านเกิดความสงสัย แล้วลงท้ายด้วยเครื่องหมายคำถาม (?) ทำให้ผู้อ่านต้องการที่จะทราบคำตอบนั้น
กระตุ้นด้วยประโยคสั้น ๆ ตามด้วยเครื่องหมายตกใจ (!) เช่น “เปิดเผยแล้ว!” “น้ำท่วมใหญ่!” เป็นต้น
สรุปวิธีการโดยแบ่งเป็นข้อ ๆ เช่น “ 10 วิธีการทำความสะอาดห้องน้ำ” “7 เคล็ดลับที่ผู้หญิงควรรู้” เป็นวิธีที่คลาสสิคสำหรับการตั้งหัวข้อคอนเทนต์ เนื่องจากสามารถเลื่อนอ่านหัวข้อย่อย ๆ แล้วทำความเข้าใจได้อย่างรวดเร็ว
แบบ Clickbait ที่จั่วหัวด้วยการทิ้งประเด็นที่น่าสนใจทิ้งความสงสัยและอยากรู้ให้ผู้อ่านได้ค้างคาใจ หรือชวนให้เข้าใจผิดได้ง่าย ด้วยเหตุนี้ก็จะเห็นหลาย ๆ แหล่งจะใช้วิธีการจั่วหัวแบบ Clickbait ไม่เว้นแม้กระทั่งสำนักข่าว เพื่อดึงดูดให้ผู้อ่านสนใจ ถือว่าเป็นวิธีที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง เพราะสามารถสร้างปริมาณคนกดคลิกเข้าไปอ่านได้มากกว่าการตั้งชื่อหัวข้อแบบปกติ
นอกจากนี้ยังมีการตั้งชื่อเพื่อบอกถึงจุดประสงค์ของหัวข้อบทความนั้นแบบชัดเจนไปเลย โดยตั้งใจให้ผู้เสพรับทราบว่าบทความนี้เป็นบทความที่เกี่ยวข้องในเชิงพาณิชย์ ซึ่งสามารถใส่ได้ทั้งหัวและท้ายบทความ เช่น
[Review] เป็นการแนะนำสินค้า บริการ รวมไปจนถึงสถานที่นั้น ๆ โดยเป็นการบอกเล่าถึงรายละเอียดต่าง ๆ จากความคิดเห็นของผู้เขียนโดยตรง ซึ่งบางบทความก็เป็นการรีวิวในแบบที่ผู้เขียน เขียนเอง และแบบที่มีผู้สนับสนุนขอให้ผู้เขียนนั้นรีวิว มีทั้งข้อกำหนดเงื่อนไขในการรีวิว และไม่มีเงื่อนไขในการรีวิว
[PR] เป็นการประชาสัมพันธ์ข่าวของแบรนด์ หรือองค์กร โดยอาจจะเป็นการประชาสัมพันธ์ด้วยสื่อของตัวเอง หรือใช้สื่อและพาร์ทเนอร์อื่น ๆ มาช่วยประชาสัมพันธ์ มีทั้งแบบเนื้อหาที่มาจากฝ่ายประชาสัมพันธ์โดยตรง และแบบเป็นที่สื่ออื่นช่วยเผยแพร่
[Advertorial] คือบทความที่ได้รับค่าโฆษณา บางแห่งอาจจะใช้คำว่า Sponsored post, Sponsored by หรือเขียนโดยขึ้นชื่อบทความก่อนและลงท้ายด้วย by ชื่อผู้สนับสนุนนั้น ๆ
[ชื่อสื่อ x ชื่อผู้สนับสนุน] เป็นการผลิตแคมเปญร่วมกันที่ทั้งสองฝ่ายได้รับประโยชน์ด้วยกันทั้งคู่
ในการตั้งชื่อบทความนั้นต้องดูบริบทที่สัมพันธ์กันหลายอย่าง เพื่อที่จะได้ชื่อเรื่องที่น่าสนใจ และตรงกับอัตลักษณ์ของเว็บไซต์ หรือโชเชียลมีเดียที่เราต้องการจะเผยแพร่ด้วย นอกจากนี้ถ้าคุณเก่งในการเขียนบทกลอนแล้ว แนะนำให้ลองใช้วิธีสัมผัสนอก สัมผัสใน สัมผัสระหว่างบทดู จะทำให้ชื่อบทความของคุณมีความคล้องจองกัน แค่อ่านชื่อเรื่องก็รู้สึกสนุก และน่าสนใจมากกว่าเดิมหลายเท่า
2. อ่านเข้าใจง่าย
มีการเรียบเรียงภาษาด้วยสำนวนที่อ่านเข้าใจได้ง่าย โดยสามารถอ้างอิงจากผู้อ่านว่าเป็นกลุ่มใด มีความสนใจเนื้อหาในด้านไหนเป็นพิเศษ เป็นกลุ่มผู้ชาย ผู้หญิง หรือวัยรุ่น ซึ่งก็จะมีการใช้ภาษาเขียนที่ต่างกันออกไป เพื่อให้ได้อรรถรสและเข้าถึงผู้เสพในบทความนั้น ๆ ได้โดยตรง และที่สำคัญต้องใช้หลักไวยากรณ์ได้ถูกต้องในภาษาที่เขียนด้วย
3. มีโครงสร้างที่แข็งแรง
โครงสร้าง หรือโครงเรื่องต้องมีความสมบูรณ์แข็งแรง ชัดเจนว่ากำลังจะเขียน หรือบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับอะไร มีความสอดคล้องกับหลักเหตุผล โดยต้องมีการแนะนำหัวข้อก่อน แล้วหลังจากนั้นจึงอธิบายหัวข้อนั้น คลี่คลายประเด็นหลัก และค่อย ๆ นำเสนอในแง่มุมอื่นที่เกี่ยวข้อง แต่ต้องไม่หลงในประเด็นหลักที่จะนำเสนอ มีการสรุปใจความสำคัญของหัวข้ออย่างกระชับ ได้ใจความ ไม่ยืดเยื้อ โดยสามารถแบ่งโครงสร้างบทความได้สามส่วนง่าย ๆ คือ
บทนำ จะเป็นการเกริ่นก่อนที่จะเข้าเนื้อหาภายในเรื่อง โดยจะต้องเขียนให้ผู้อ่านรู้สึกอยากที่จะอ่านเนื้อหาต่อ ซึ่งสามารถกำหนดสัดส่วนของปริมาณเนื้อหาทั้งหมดได้ ประมาณ 30% ของบทความทั้งหมด
เนื้อหา สัดส่วนควรจะอยู่ที่ 60%
บทส่งท้าย จะอยู่ที่ 10% โดยจะต้องสรุปรวบรัดเนื้อหาทั้งหมดให้ผู้อ่านอีกครั้ง สามารถแสดงความคิดเห็น หรือทิ้งท้ายประเด็นให้ผู้อ่านนำไปต่อยอดทางความคิดเพิ่มเติมได้
4. ศัพท์เฉพาะวงการ
ถ้าหากว่าภายในบทความมีคำศัพท์เฉพาะวงการที่จำเป็นจะต้องใช้นำมาประกอบในบทความ ก็ต้องอธิบายคำศัพท์นั้น ๆ เพิ่มลงไปในบทความ หรือจะใช้วิธีสร้างลิงก์อ้างอิงเพื่อให้ผู้อ่านเข้าไปศึกษาบทความที่อธิบายศัพท์นั้นเองก็ได้
5. แหล่งข้อมูลถูกต้อง
บทความที่มีการใช้แหล่งอ้างอิงข้อมูลเพิ่มเติม จะต้องแนบลิงก์ประกอบเพิ่มเติมในท้ายบทความ หรือในเฉพาะส่วนเนื้อหาที่กำลังถูกพูดถึงอยู่ก็ได้ แต่แหล่งข้อมูลต้องมีที่มาที่น่าเชื่อถือ ถูกต้อง เที่ยงตรง สามารถยืนยันและพิสูจน์ได้ โดยนักเขียนที่ดีควรจะมีคลังแหล่งข้อมูลส่วนตัวเก็บสะสมไว้ ผ่านการคัดกรองมาแล้วว่าเป็นแหล่งที่สามารถนำมาใช้อ้างอิงได้ ไม่ใช่เว็บไซต์แบบ Clickbait ข่าวปลอม ไม่มีแหล่งที่มาที่ไปที่ชัดเจน หรือมีการคัดลอกเนื้อหาต่อ ๆ กันมา
6. เป็นกลาง
บทความสามารถเขียนในมุมมองส่วนตัวของผู้เขียนได้ แต่ต้องถูกแสดงอย่างยุติธรรม และไม่มีอคติเอนเอียง สามารถวิเคราะห์ทุกแง่มุมที่เกี่ยวข้องได้ ทั้งด้านดีและไม่ดี แต่ต้องไม่ตัดสินด้วยตัวเอง แต่ถ้าหากว่าบทความนั้นจำเป็นต้องแสดงความคิดเห็นส่วนบุคคลไปในทางใดทางหนึ่ง ก็ต้องบอกลงไปในบทความว่าเป็นเพียงความคิดเห็นของผู้เขียนแต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น เพื่อไม่ให้เป็นการชี้นำผู้อ่านมากจนเกินไป
7. จัดหมวดหมู่ อย่างเหมาะสม
ในเว็บไซต์หนึ่งอาจจะมีการจัดประเภทของบทความ เพื่อที่ผู้อ่านจะได้แยกแยะและค้นหาบทความที่ตัวเองสนใจได้ง่ายขึ้น การจัดวางหมวดหมู่ก่อนที่จะเริ่มเขียนจะช่วยให้ผู้เขียนกำหนดทิศทางบทความนั้นได้ง่ายมากยิ่งขึ้น โดยบทความหนึ่งอาจจะมีหลาย ๆ หมวดหมู่ก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าเนื้อหาภายในบทความนั้นมีความเกี่ยวข้องกันมากน้อยเพียงไหน
หลักการใช้ภาษาไทย
ปัญหาหนึ่งที่พบเจอกับบ่อย ๆ คือการเขียนคำผิด ไปจนถึงการใช้หลักไวยกรณ์แบบผิด ๆ ถ้าหากคิดจะเป็นนักเขียนแล้ว ไม่ว่าคุณจะเป็นนักเขียนแนวไหน ทักษะพื้นฐานในการเขียนภาษาไทยจะต้องมีติดตัวกันทุกคน โดยเราจะแนะนำหลักภาษาไทยเบื้องต้นที่นักเขียนทุกคนจะต้องได้ใช้แน่ ๆ มาทบทวนความจำในชั้นเรียนวิชาภาษาไทยกันบ้างดีกว่า
การเว้นวรรค
ภาษาไทยจะมีการเว้นวรรคประโยค หรือเป็นการเว้นช่องว่างระหว่างคำที่จะทำให้บทความสามารถอ่านได้ง่ายขึ้น โดยจะมีการเว้นวรรคอยู่สองแบบคือ
เว้นวรรคเล็ก คือการเว้นระยะหนึ่งตัวอักษร (เคาะหนึ่งครั้ง) เป็นการเว้นวรรคระหว่างคำ
เว้นวรรคใหญ่ คือการเว้นระยะสองตัวอักษร (เคาะสองครั้ง) เป็นการเว้นวรรคเพื่อจบประโยค
ทั้งการเว้นวรรคใหญ่ และเว้นวรรคเล็ก ต่างก็มีคนสับสน และใช้งานกันอย่างไม่ถูกต้อง สลับหน้าที่การใช้งานกันบ้าง หรือเว้นวรรคมั่วชั่วบ้าง ถ้าเว้นวรรคไม่ดีก็จะส่งผลต่ออรรถรสในการอ่านได้ โดยเฉพาะการออกออกเสียง ถ้ามีประโยคต่อเนื่องยาว ๆ ไม่รู้ว่าจะเว้นวรรคประโยคตรงไหนบ้าง ก็แนะนำให้ลองอ่านประโยคที่เราเขียนนั้นดู จังหวะไหนที่เราต้องหยุดอ่านเพื่อพักหายใจ ตรงนั้นก็คือการเว้นวรรค แต่ถ้าอ่านแล้วมีจังหวะหยุดพักหายใจที่แปลก ๆ ก็แสดงว่าเราเว้นวรรคผิดนั่นเอง เพียงแค่ต้องเว้นวรรคประโยคให้ถูกต้องแค่นั้นก็จะทำให้บทความของเราเป็นบทความที่น่าอ่านมากขึ้นเป็นกอง
การใช้เครื่องหมายพิเศษต่าง ๆ
เครื่องหมายต่าง ๆ ที่ว่านี้ก็คือ เครื่องหมายที่ใช้เขียนกำกับประโยค คำ หรือข้อความต่าง ๆ ให้ชัดเจน เพื่อให้ผู้อ่านสามารถอ่านได้ถูกต้อง และเข้าใจความหมายรูปประโยค หรือคำนั้นได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยจะขอยกตัวอย่างเครื่องหมายพิเศษที่นิยมใช้กันบ่อย ๆ ได้แก่
วงเล็บ ( )
จุลภาค (,)
จุดไข่ปลา (…)
ปรัศนี (?)
อัศเจรีย์ (!)
ไปยาลใหญ่ (ฯลฯ)
ไม้ยมก (ๆ)
อัญประกาศ (“ “)
ที่ยกตัวอย่างมาเป็นเพียงแค่บางส่วนของเครื่องหมายพิเศษเท่านั้น และขออนุญาติไม่อธิบายเครื่องหมายเหล่านี้เพิ่มเติม เพราะเกรงว่าจะดูเป็นวิชาภาษาไทย ๑๐๑ มากเกินไป ทั้งนี้เป็นหน้าที่ของนักเขียนแล้วว่าจะสามารถใช้ประโยชน์จากเครื่องหมายพิเศษต่าง ๆ ในบทความของตัวเองได้ถูกต้องอย่างไรบ้าง
ตัวอย่างวิธีการเว้นวรรคที่ถูกต้องในการใช้ไม้ยมก
สลวยสวยเก๋ด้วยสันธาน
เคล็ดลับอย่างหนึ่งในการเขียนบทความให้อ่านลื่น อ่านง่าย นั่นก็คือการใช้คำสันธานหรือคำเชื่อมประโยคที่จะช่วยให้รูปประโยคต่าง ๆ มีความสละสวย และกระชับมากขึ้น โดยคำสันธานสามารถแบ่งวิธีการนำไปใช้ได้สี่อย่าง คือ
ความคล้อยตามกัน เช่น กับ, และ, และแล้ว, แล้ว…จึง, ก็, ครั้ง…ก็, ครั้น…จึง, เมื่อ…ก็, พอ…ก็, ทั้ง…และ, แล้ว…ก็, พอ…ก็
ความขัดแย้งกัน เช่น แต่, แต่ว่า, แต่ทว่า, แต่ก็, ถึง…ก็, แม้…ก็, แม้ว่า, กว่า…ก็
ความเป็นเหตุเป็นผลกัน เช่น ดังนั้น, เพราะ, เพราะว่า, เพราะฉะนั้น, ฉะนั้น, จึง, เพราะ…จึง, ดังนั้น…จึง, ด้วย, เหตุเพราะ, เพราะเหตุว่า, ด้วยเหตุที่
เลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น หรือ, มิฉะนั้น, ไม่เช่นนั้น, ไม่…ก็, หรือไม่ก็
หลาย ๆ ท่านเขียนบทความแล้วกลับมานั่งอ่านอีกครั้งก็ค้นพบว่ามันช่างไม่ลื่นไหล และสากเสี่ยนเสียเหลือเกิน ทำไมจึงเขียนออกมาแล้วมันถึงอ่านติด ๆ ขัด ๆ เหตุผลหนึ่งก็คือบทความของคุณขาดการใช้คำสันธานที่ถูกต้องนั่นเอง ถ้าเราวางรูปประโยคและมีคำเชื่อมดี ๆ ก็จะทำให้บทความนั้นมีการเรียบเรียงภาษาที่มีความต่อเนื่อง ลื่นไหลขึ้นนั่นเอง
Keyword และ SEO พระเอกขี่ม้าสีหมอก
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า SEO มีบทบาทในการเขียนบทความบนเว็บไซต์มากยิ่งขึ้น บางแห่งถึงขั้นกำหนดเป็นมาตรฐานที่จะต้องมีในแต่ละบทความกันเลยทีเดียว โดยหัวข้อถัดไปนี้จะเป็นการแนะนำการใช้ประโยชน์จาก Keyword และการทำ SEO เบื้องต้นในบทความ โดยในภาพรวมจะพูดถึงการเขียนบทความลงบน Blogging Platform หรือ Content Management System (CMS) เช่น WordPress ที่เป็นแพลตฟอร์มที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในการทำเว็บไซต์ และง่ายต่อกันทำ SEO อีกด้วย โดยหลักการต่อไปนี้นักเขียนต้องมีความรู้เบื้องต้นทางด้าน SEO และการใช้ CMS เสียก่อน ไม่งั้นเดี๋ยวจะอ่านไม่รู้เรื่องนะจ๊ะ
ก่อนอื่นเราจะต้องหาคีย์เวิร์ดที่เกี่ยวข้องกับบทความที่กำลังจะเขียนเสียก่อน โดยสามารถหาได้จากในเครื่องมือวางแผนคีย์เวิร์ด Google Keyword Planner แล้วดูปริมาณการค้นหาคำนั้น ๆ ว่ามีมากน้อยเท่าไหร่ ยิ่งเราใช้คำที่มีผลการค้นหามาก บทความของคุณก็จะมีโอกาสแสดงผลในเสิร์ชเอนจินได้มากขึ้นเช่นกัน โดยอาจจะเลือกคีย์เวิร์ดที่จะเอามาใช้อย่างต่ำสัก 2 – 3 คำก็ได้
เมื่อได้คีย์เวิร์ดหลักเรียบร้อยแล้ว ก็ใส่คีย์เวิร์ดเข้าไปในชื่อบทความของเรา โดยต้องกระจายคีย์เวิร์ดให้เหมาะสม อ่านรู้เรื่อง และชื่อเรื่องต้องมีความยาวไม่มากจนเกินไป (ไม่เกิน 60 ตัวอักษร)
เราสามารถตั้งชื่อลิงก์ของบทความและใส่คีย์เวิร์ดลงไปในลิงก์ได้ โดยแนะนำว่าควรจะตั้งเป็นชื่อภาษาอังกฤษมากกว่าภาษาไทย เพราะจะช่วยให้การค้นหาง่ายมากกว่า อีกทั้งลิงก์ที่เป็นภาษาไทยจะถูกแสดงผลในการอ่านยากมากกว่าภาษาอังกฤษ ซึ่งนั่นก็จะทำให้ชื่อลิงก์เรายาวเกินไปนั่นเอง
การเขียนคำบรรยายบทความ (Description) เราสามารถเลือกเขียนได้ทั้งแบบเกริ่นนำ หรือจะเป็นบรรยายโดยสรุปก็ได้ แต่ต้องไม่เกิน 160 ตัวอักษร ซึ่งแน่นอนว่าเราควรจะใส่คีย์เวิร์ดประจำบทความของเราไว้ด้วยเช่นกัน
ในส่วนของหัวข้อภายในเนื้อหา (Headings) ถ้าหากว่าเรามีการวางโครงสร้างเนื้อหามาเป็นอย่างดีแล้ว การตั้งหัวข้อใหญ่ จนไปถึงหัวข้อย่อยก่อน ก็จะทำให้เราสามารถเขียนเนื้อหาและรายละเอียดได้เร็วและง่ายยิ่งขึ้น ที่สำคัญควรมีคีย์เวิร์ดปรากฏอยู่ในหัวข้อต่าง ๆ ของเราด้วยเหมือนกัน
รูปในเว็บไซต์ก็ต้องมีการตั้งชื่อด้วย หรือที่เรียกว่า Alternative Text นั่นเอง โดยชื่อนั้นต้องบอกว่ารูปนั้นเป็นรูปเกี่ยวกับอะไร ถ้าหากว่าเราระบุชื่อใน Alt Text ได้ตรงกับรูปภาพนั้น ก็จะทำให้ผลการค้นหาในคีย์เวิร์ดที่เกี่ยวข้องกับรูปของเราก็จะแสดงผลการค้นหาออกมาได้ง่ายขึ้น
ถ้าหากว่ามีคีย์เวิร์ดหลายคำ เราต้องการกระจายสัดส่วนของคีย์เวิร์ดทั้งหมดลงในบทความ แต่ไม่ควรเกิน 2.5% ของปริมาณตัวอักษรทั้งหมดที่อยู่ในบทความ โดยควรจะมีคีย์เวิร์ดหลักที่เราพูดถึงบ่อย ๆ อยู่ไม่ต่ำกว่า 5–7 ครั้ง ต่อหนึ่งคีย์เวิร์ด ซึ่งความเยอะความน้อยนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณเนื้อหาทั้งหมดของบทความด้วย
การหา Keyword และการทำ SEO กำลังจะกลายเป็นข้อบังคับเริ่มต้นสำหรับนักเขียนในยุคดิจิทัลเสียแล้ว เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ถ้าหากว่าคุณยังอยู่ในเส้นทางการเขียนบทความผ่านแพลตฟอร์มบนโลกออนไลน์ ฉะนั้นจงใช้เวลาศึกษาเรื่อง SEO สักนิด ถึงตอนนี้จะเรียกได้ว่าเป็นข้อได้เปรียบมากกว่านักเขียนคนอื่น แต่อีกหน่อยมันจะกลายเป็นทักษะพื้นฐานสำหรับนักเขียนหลังจากนี้ไปอย่างแน่นอน
ก๊อปไม่ก๊อป ก็ลองเสี่ยงดวงอีกสักนิด
เมื่อเราได้นั่งเขียนบทความกันเป็นตุเป็นตะใกล้จะเสร็จแล้ว ซึ่งแต่ละคนก็จะมีวิธีการเขียนที่ไม่เหมือนกัน แต่ก็ต้องยอมรับว่านักเขียงเองบางครั้งก็ไม่ได้รอบรู้ไปซะทุกเรื่อง ไม่ได้ชำนาญจะเสียทุกด้าน วิธีการแก้ไขก็คือ ค้นคว้าหาข้อมูลมาประกอบให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ บางครั้งเราก็อาจจะเผลอนำเอาประโยคสำคัญในบทความ คัดลอกมาทั้งดุ้น เพื่อเอามาใส่ในบทความของเรา ยิ่งถ้าหากว่าคุณก๊อป-วางเยอะ ๆ แล้ว คะแนน SEO ของคุณก็จะเสียไปด้วยเหมือนกัน ซึ่งนั่นก็จะทำให้เว็บไซต์ หรือบทความของคุณนั้นไม่ติดอันดับการค้นหาเลยก็เป็นได้ ฉะนั้นคิดจะคัดลอกก็ต้องเรียบเรียงให้เป็นภาษาของตัวเองด้วยถึงจะรอดตาย แล้วเราจะรู้ได้ยังไงล่ะ ว่าบทความที่เราเขียนดันไปเหมือนชาวบ้านชาวช่องเขาหรือเปล่า วิธีการตรวจเช็คก็ง่ายมาก เพียงแค่คุณก๊อปบทความของตัวเองมาตรวจสอบบทความซ้ำในเว็บไซต์ Plagiarism Checker ก็จะรู้ได้ในทันทีว่าประโยคไหนที่ก็อปมา ประโยคไหนที่เป็นเราเขียนขึ้นมาใหม่ โดยจะขอแนะนำสามเว็บไซต์ที่สามารถทำการตรวจเช็คได้ ดังนี้
https://smallseotools.com/plagiarism-checker/
https://www.plagiarismsoftware.net
http://text.work (เว็บไซต์ที่พัฒนาโดยคนไทย สามารถทำงานรวมกับภาษาไทยได้ดี)
ถ้าเป็นไปได้บทความของคุณควรจะต้องได้ 100% Unique นั่นคือเป็นบทความ Original Content ที่เขียนขึ้นมาใหม่เองกับมือ ไม่ได้มีส่วนใดส่วนหนึ่งไปเหมือน หรือลอกบทความจากชาวบ้านมา วิธีนี้อาจจะเป็นวิธีที่ยากเกินไปสักหน่อยสำหรับนักเขียนหน้าใหม่ แต่เชื่อเถอะว่าทุกครั้งที่คุณเขียนงานออกมา แล้วมานั่งเช็คทุกบทความให้ได้ใกล้เคียง 100% ที่สุด ทำบ่อย ๆ แล้วมันจะสั่งสมให้คุณเป็นนักเขียนมือฉมังได้อย่างไม่ยากเย็นมากนัก
จะเห็นได้ว่าพฤติกรรมการอ่านของผู้คนเปลี่ยนแปลงไปจากบนผนังถ้ำ กระดาษ จนมาถึงการแสดงผลแบบอิเล็กทรอนิค แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนไปคือ “คุณภาพและคุณค่าของเนื้อหา” บ้างก็ว่าของดีไม่ต้องพูดเยอะ ไม่ต้องไปหานิยามให้กับมัน ปล่อยให้บทความทำหน้าที่ของมันเองจะดีกว่า ที่ไม่ว่าวันเวลาจะผ่านไปนานสักเท่าไหร่ การเสพสื่อจะเปลี่ยนไปอย่างไร งานเขียนที่ดีก็ยังเป็นของดีอยู่วันยังค่ำ
เอาล่ะ…ถึงเวลาของคุณที่จะเริ่มเขียนแล้ว รู้สึกว่าตัวเองมีไฟที่จะเป็น Professional Digital Writer กับเขาบ้างแล้วหรือยัง ?
ความคิดเห็น