“เช้าครึ่งชาม เย็นครึ่งชาม” : ระบบราชการที่เพรียกหานักอุดมคติ

จินตนาการที่ถือว่าเป็นมาตรฐานแห่งความดี ความงาม และความจริง ทางใดทางหนึ่งที่มนุษย์ถือว่าเป็นเป้าหมายแห่งชีวิตของตนที่เรียกว่า “อุดมคติ” เป็นสิ่งที่ปรารถนาของสังคมทุกยุคทุกสมัย สังเกตได้จากปรากฏการทางสังคมที่ถูกบันทึกไว้ในรูปของวรรณกรรม กล่าวคือ ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ยังคงมีการสร้างสรรค์วรรณกรรมที่มีแก่นสารเกี่ยวกับอุดมคติมาอย่างต่อเนื่อง แม้อาจจะซบเซาเหงาเงียบในบางช่วง แต่ถึงกระนั้น ก็ยังดำรงคงอยู่ “อุดมคติ” จึงมีความสำคัญทั้งในแง่ส่วนบุคคลและในส่วนรวม มิเช่นนั้นแล้ว องคาพยพของสังคมต่างๆ คงถูกยุบสลายพ่ายพังไปสิ้นแล้ว ดังที่นักเขียนกระเดื่องนามระดับโลก แมกซิม กอกี้ ได้ยืนยันไว้แล้วว่า “ชีวิตคนเราแสวงหาความสมบูรณ์ได้โดยได้รับการกระตุ้นด้วยอุดมคติด้วยสิ่งที่ไม่ปรากฏตัวตน แต่สัมผัสได้ด้วยใจ และตระหนักว่าจะสามารถบรรลุถึงได้” ส่วน ลีโอ ตอลสตอย ได้กล่าวไว้ว่า “อุดมคตินั้นเป็นประดุจดวงดาวนำวิถี” (An ideal is like a guiding star) ซึ่งจะนำพานักอุดมคติทั้งหลายบรรลุถึงจินตนาการที่ถือว่าเป็นมาตรฐานแห่งความดี ความงาม และความจริง ทางใดทางหนึ่งที่มนุษย์ถือว่าเป็นเป้าหมายแห่งชีวิตของตนนั่นเอง
“อุดมคติ” จึงยังคงผลิเผยในท่ามความทุรกันดารของสังคม เช่นเดียวกับเรื่องราวของตัวละครเอก ในนวนิยายเรื่อง เช้าครึ่งชาม เย็นครึ่งชาม ของ ชมัยภร แสงกระจ่าง ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี ๒๕๕๗ เขาและเธอคือนักอุดมคติแห่งยุคสมัยที่ตั้งมั่นในอุดมคติของตน ที่จะทำงานราชการด้วยความซื่อตรง ยึดความถูกต้องเป็นหลัก และปฏิบัติงานให้ราชการได้ประโยชน์ให้มากที่สุด
เช้าครึ่งชาม เย็นครึ่งชาม เป็นเรื่องของ ชายหนุ่มหญิงสาวผู้มีอุดมการณ์ยึดถือความถูกต้อง ตรงไปตรงมา เป็นหลักสำคัญ ตัวละครเอกทั้งสองถูกกำหนดให้ต้องมาเกี่ยวข้องผูกพัน เนื่องจากต้องมาบรรจุเข้าทำงานใน “กรมจริยธรรม” ในฐานะ “ข้าราชการ” ฝ่ายชาย คือ ดร.สารภี เป็นลูกชาวบ้านชั้นล่างธรรมดาที่พลิกชะตาตนเอง ด้วยการกัดฟันสู้ชีวิตส่งเสียตนเองเรียน จนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก บุคลิกภายนอก เมื่อมองผ่านสายตาของตัวละครส่วนใหญ่ในเรื่องนี้ลงความเห็นว่า เขาเป็นคนเชยเข้าขั้น ฝ่ายหญิงคือศิขรา เป็นนักเรียนนอก จบการศึกษาปริญญาโท หน้าตาสวยมาก เข้ารับราชการ โดยดำเนินตามรอยทางของครอบครัว เธอมีคุณปู่เป็นอดีตอธิบดี และมีบิดาเป็นรองอธิบดีอยู่อีกกรมหนึ่ง จากความเกี่ยวข้องโดยหน้าที่ และมีหัวหน้างานชั้นต้นซึ่งคนทั้งสองเคารพรักมาก แม้ทั้งคู่จะมีความคิดเห็นไม่ลงรอยกันในช่วงแรก ทั้งระบบราชการที่ใหญ่เทอะทะ ลึกลับ ซับซ้อน ทำให้ตัวละครเอกฝ่ายชายต้องพบกับความกดดันอันเนื่องมาจากความซื่อตรงและจริงจังกับการทำงาน และฝ่ายหญิงมักจะร่วมอยู่เหตุการณ์เสมอๆ ทั้งคุณธรรมที่ทั้งสองยึดถือคือความถูกต้อง จึงทำให้ทั้งสองซึ่งต่างชั้นกำเนิด ต่างฐานะ ที่ไม่น่าเข้ากันได้ กลายเป็นความพันผูกที่พัฒนาไปสู่“ความรัก” ในที่สุด
เมื่อเพ่งพินิจไปยังตัวละครต่างๆ จะเห็นได้ว่าส่วนใหญ่มักมีลักษณะไม่พึงประสงค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวละครที่ดำรงตำแหน่งบริหารระดับต่างๆ รวมถึงบริวาร เช่น เลขาหน้าห้องของผู้บริหาร ก็มักแสดงออกให้เห็นว่า ตัวละครเหล่านี้ไม่น่าไว้เนื้อเชื่อใจนัก คนที่ไม่อยู่ในระบบราชการอ่านแล้วคงรู้สึกหดหู่ ว่าตัวละครในระบบราชการ เหตุใดจึงมีลักษณะที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาองค์กรได้เพียงนี้ แต่สำหรับผู้ที่อยู่ในระบบราชการย่อมเข้าใจได้ว่า ผู้ประพันธ์มิได้แกล้งให้ตัวละครต้องมีลักษณะในทางร้ายหลายๆ ตัว แบบเกินจริง
ตัวละครเอก ตัวละครรอง ตลอดจนตัวละครประกอบอื่นๆ ล้วนจำลองมาจากบุคคลในหน่วยงานราชการ และมีความสมจริง กล่าวคือ ตัวละครมีการพัฒนาการ มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเป็นไปตามสภาแวดล้อมทางสังคม อายุวัยมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงลักษณะนิสัยของตัวละคร เช่น ตัวละครวีนัส ในปัจจุบันดำรงตำแหน่งอธิบดี ส่วนในอดีตของวีนัส จากคำบอกเล่าของนารถซึ่งมีศักดิ์เป็นปู่ของศิขรา นั้น วีนัส ในวัยหนุ่มเป็นคนหัวก้าวหน้า และกล้าหาญ จริงจังในการทำงาน มีความคิดอ่านที่ดีมาก แต่บุคลิกภาพก็เปลี่ยนไปจากหน้ามือเป็นหลังมือ คำบอกเล่าของนารท ได้แสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของตัวละครที่เป็นไปลักษณะถูกกล่อมเกลาทางวัฒนธรรมองค์กรชัดเจนที่สุด
“เราไม่รู้เหมือนกันว่า ข้างในของแต่ละคนนั้นทนทานแค่ไหน บางคนก็มีข้างในที่แข็งแกร่งเหมือนหินผา แม้จะโดนแดดโดนฝนสักเท่าไรก็ไม่สึกกร่อน แต่คนบางคนข้างในก็ราวสำลี อ่อนนุ่มอุ้มน้ำ และแห้งกระจุยล่องลอยได้” (หน้า ๑๗)
ทัศนะของตัวละครผู้มีประสบการณ์ยาวนานในวงราชการ กล่าวถึงระบบราชการที่ท้าทายต่อความเข้มแข็ง อ่อนแอ ของแต่ละคนที่จะยอมให้ระบบกลืนกิน หรือจะหยัดอยู่อย่างแข็งแกร่งและกล้าหาญเพื่อเป็นพลังบวกให้องค์กรก้าวหน้า
ผู้ประพันธ์มักไม่บรรยายตัวละครโดยตรง แต่จะแสดงพฤติกรรมบางอย่างของตัวละครให้ปรากฏ หรืออาจแสดงลักษณะนิสัยผ่านบทสนทนาของตัวละครนั้นกับตัวละครอื่น กล่าวคือ ผู้ประพันธ์จะผลักภาระให้ตัวละครหนึ่งเป็นผู้บรรยายลักษณะนิสัยของอีกตัวละครหนึ่งผ่านการสนทนา หรือผ่านการครุ่นคิด การทำเช่นนี้ ทำให้การดำเนินเรื่องดำเนินไปอย่างรวดเร็วและแนบเนียน ในด้านการผูกปมเรื่องนั้น ผู้ประพันธ์จงใจจะให้ตัวละครเอกชาย-หญิง มีความคิดเห็นและบุคลิกภาพที่ไม่เข้ากัน ไม่ลงรอยกัน จากนั้นค่อยๆ สร้างสถานการณ์ให้ทั้งคู่ต้องมาเกี่ยวข้องกันโดยระบบงานที่มีการมอบหมายให้ปฏิบัติร่วมกัน บุคลิกภายนอกของทั้งสองเป็นแบบขั้วตรงข้าม คือชายเฉิ่มเชยกับหญิงแสนสวย แล้วก็กำหนดตัวละคร ผานิต ซึ่งทั้งสองเคารพรักมาก อย่างไรก็ตาม ผู้ประพันธ์มิได้บุ่มบ่ามที่จะให้ตัวละครใกล้ชิดสนิทสนม หรือรู้สึกดีต่อกันแบบราบรื่นรวดเดียวจบ แต่ชั้นเชิงของนักประพันธ์ผู้สร้างงานบันเทิงคดีมามาก ก็ได้ผูกปมเหตุแห่งสถานการณ์ที่ซับซ้อนเขม็งเกลียวขึ้น รุนแรงขึ้น บีบหัวใจมากขึ้น ที่ทำให้ผู้อ่านต้องคอยลุ้นว่า เมื่อใดพระเอกนางเอกจะหันมาปรับความเข้าใจกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุการณ์ เมื่อผานิตถูกฆาตกรรมทางราชการ (ให้ออกจากราชการ) การให้ ดร.สารภี ต้องพบกับความกดดันเมื่อมีข่าววงในว่าฝ่ายบริหารจะลงโทษทางวินัยเขา แต่เขาก็ถูกสร้างให้เป็นตัวละครที่เชื่อมั่นและเคารพในสิ่งที่ถูกต้อง แน่วแน่ที่จะทำในสิ่งที่ถูกต้องเท่านั้น ความซื่อตรงของเขาถูกบั่นทอนด้วยข้อหาที่ไม่จริงและไม่เป็นธรรม
ดร.สารภี ถูกกระทำให้สิ้นกำลังใจในหลายครั้งหลายครา ทั้งนี้เพื่อกำราบความทะนงของเขาที่ไม่ยอมอ่อนค้อมต่อการกระทำที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งจะต้องเรียกหากำลังใจจากคนที่เขาเชื่อว่าเขาสนิทด้วย ซึ่งก็คือ ศิขรา มิเพียงเท่านั้น ยังผูกเงื่อนปมให้ ผานิตผู้อ่อนยอม ที่ยอมทำทุกสิ่งทุกอย่างตามผู้บังคับบัญชาสั่ง กระทั่งยอมแก้ไขมติการประชุมเรื่องการสรรหาผู้สมควรได้รับรางวัลจริยธรรมดีเด่นแห่งชาติ (เนื่องจากฝ่ายบริหารรับสินบนจากผู้สมัครเข้ารับการสรรหาคนหนึ่ง) ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่ความอื้อฉาวของกรมจริยธรรม ส่งผลให้ผานิตถูกยัดเยียดให้เป็นแพะรับบาปในที่สุด
เมื่อผู้ประพันธ์มุ่งฉายภาพจำลองของระบบราชการ ฉากในนวนิยายเรื่องนี้ จึงเป็นฉากที่เน้นสภาพแวดล้อมทางวัฒนธรรม เป็นที่ทำงานของตัวละคร เป็นบรรยากาศของผู้คนในที่ทำงาน วิถีการทำงานการทักทายกันในลิฟต์ ที่ลงลายชื่อมาทำงาน ทำให้ผู้อ่านได้เห็นภาพว่า คนในระบบราชการนั้น แม้จะมาทำงานในเวลาที่เลยเวลา ๐๘.๓๐ น. (เวลาราชการ ๐๘.๓๐-๑๖.๓๐ น.) ไปแล้วก็ตาม ก็ต้องลงลายมือชื่อให้อยู่ในกรอบเวลา ๐๘.๓๐ น. เท่านั้น นอกจากนี้ ผู้ประพันธ์ยังไล่เรียงให้เห็นตัวละครเสมือนจริงในระบบราชการ เช่น ถนอม ฟุ้งหอม อดีตข้าราชการดีเด่นที่กลายเป็นขี้เมาประจำกรม ทัศนัยชายหนุ่มผู้แต่งกายเนี้ยบตั้งแต่หัวจรดเท้าจอมเจ้าชู้ ลอออรสาวงามผู้ไม่ใส่ใจการงาน ทั้งบรรดาหน้าห้องของหัวหน้าหน่วยงานระดับต่างๆ ล้วนสะท้อนให้เห็นบุคลิกที่ย้อนแย้งกับหน้าที่ที่พึงปฏิบัติ รวมถึงเมื่อพวกเขาทั้งหลายได้พบปะกัน ก็มักมีเรื่องราวสนทนาที่ไม่สร้างสรรค์ สนใจข่าวลือ นินทาว่าร้าย แทบไม่ใส่ใจกับสิ่งที่ควรใส่ใจคืองานในหน้าที่ ผู้ประพันธ์จะไม่เน้นการพรรณนาฉาก หากแต่ใช้ฉากเป็นเหตุการณ์ในการดำเนินเรื่อง ซึ่งทำให้การเดินกระชับ รวดเร็ว ใช้บทสนทนาที่เป็นอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครในการช่วยบรรยายฉาก บรรยากาศ ร้อน หนาว โกรธ แค้น ฯลฯ
เครื่องมือที่ทรงประสิทธิภาพที่สุดของผู้ประพันธ์ คือภาษา ในเรื่องนี้ ผู้ประพันธ์ได้สำแดงความช่ำชองทางภาษาไว้อย่างเด่นชัด โดยการนำสำนวนมาเปรียบเทียบ ขับเน้นแนวคิดที่ผู้ประพันธ์ต้องการสื่อมายังผู้อ่าน ซึ่งทำได้อย่างมืออาชีพ ดังข้อความต่อไปนี้
(๑) “…เรามีคนเยอะกว่างาน ในขณะเดียวกันเราก็ปลูกฝังกันมาว่า ราชการเป็นงานสบาย ดังนั้นเราจึงเห็นความหยิบโหย่ง ความเย่อหยิ่งของข้าราชการเป็นเรื่องปกติ ข้าราชการคนไหนก็ตามที่ลงไปลุยงานราวกับจับกังคนๆ นั้น ก็ถูกมองว่าเป็นจับกัง เป็นคนแปลก ไม่ช้าไม่นานก็จะลดการทำงานหนักลง และค่อยๆ ทำงานสบายขึ้น ทำงานให้น้อยลง ยืดเวลาให้มากขึ้น สร้างพฤติกรรมแสนสบายทีละนิดโดยไม่รู้ตัว” (หน้า ๑๕๘)
(๒) “เชื่อผมเถอะ…ผมอาบน้ำมาก่อนคุณนะ…แต่บังเอิญว่าเราอยู่กันคนละสถานะ ผมเป็นนายคุณ ผมจึงสั่งคุณได้” (หน้า ๓๕๒)
(๓) “ตั้งแต่ผมมาทำงานที่นี่ ไม่เคยมีอะไรเป็นสาระเลย วันหนึ่งๆ มีแต่เรื่องนินทาว่าร้ายกัน ข้าราชการชั้นผู้น้อยก็วุ่นอยู่กับการแก่งแย่งแข่งดีกันเอง ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ก็คอยแต่จะรักษาเก้าอี้” (หน้า ๑๕๘)
(๔) “…เป็นข้าราชการน่ะ มีกินมีที่อยู่คุ้มหัวตลอดชีวิตเกษียณอายุแล้วก็ยังมีบำนาญกินจนกว่าจะตายไป…” (หน้า ๓๐๔)
(๕) “…ข้าพเจ้าเข้าใจเอาเองว่า บัดนี้สังคมของเราได้เสื่อมทรามลงไปแล้วด้วยเหตุที่ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของเราบางคนไม่สามารถดำรงความน่าเชื่อถือเอาไว้ได้ จะด้วยเหตุเพราะเรื่องความประพฤติปฏิบัติส่วนตัว หรือเรื่องของอามิสสินจ้างใดๆ ก็ตาม ความเสื่อมทรามดังกล่าวได้กลายเป็นความชอบ เพราะสามารถปิดบังหรือพลิกแพลงให้กลายเป็นความชอบไปได้…” (หน้า ๑๐๘)
กล่าวคือ ข้อ (๑) เป็นการอธิบายถึงสาเหตุของการทำงานที่เรียกว่า “เช้าชาม เย็นชาม” ข้อ (๒) เป็นการสะท้อนภาพวัฒนธรรมของข้าราชการที่เน้นความอาวุโสมากกว่าความสามารถ เน้นความสัมพันธ์เชิงอำนาจแบบผู้บังคับบัญชากับผู้ใต้บังคับบัญชา เน้นเชื่อฟัง ไม่ปรารถนาการโต้เถียงด้วยเหตุผล “อาบน้ำร้อนมาก่อน” ข้อ (๓) เป็นการสะท้อนภาพของคนราชการที่มักไม่ใส่กับสิ่งที่ควรใส่ใจ แต่กลับไปสนใจกับเรื่องไร้สาระ เช่น สนใจข่าวลือต่างๆ ทั้งที่ไม่มีความจริงรองรับ ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะข้าราชการมองเห็นว่าสมบัติของราชการไม่ใช่ของตน “เอาหูไปนา เอาตาไปไร่” ข้อ (๔) เป็นการสะท้อนค่านิยมต่ออาชีพข้าราชการ ที่มองว่าเป็นอาชีพที่มีจะมีกินมีใช้ มั่นคง และหลวงเลี้ยงตลอดชีวิต “สิบพ่อค้าไม่เท่าหนึ่งพระยาเลี้ยง” ข้อ (๕) สะท้อนว่าคนในราชการมักมีลักษณะการกระทำที่ไม่ตรงไปตรงมา และการกระทำที่ไม่ตรงไปตรงนี้ จึงทำให้ต้องระมัดระวังไม่ให้หน่วยงานตกเป็นข่าวที่ไม่ดี ดังนั้น เมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้นในหน่วยงาน ก็มักต้องปกปิด และที่น่าสังเกต คือ บรรดาเรื่องที่เป็นความลับ มักก่อขึ้นจากคนภายในระดับผู้บริหาร “ลับลมคมใน”
การบรรยายถึงบุคคลหรือเหตุการณ์ด้วยการใช้สำนวนดังที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งมีความหมายเป็นนัยแฝงอยู่ กินความกว้าง หรือลึกซึ้ง คมคาย ทำให้การสื่อสารแก่นหลักของเรื่องเห็นภาพชัดเจน และตรงประเด็น
นอกจากนี้ ผู้ประพันธ์ยังใช้ความเปรียบพรรณนาถึงภาวะความไหวรู้สึก ในอารมณ์ต่างๆ ได้อย่างเห็นภาพพจน์ ดังตัวอย่าง
(๖) “ความผิด” เกิดขึ้นง่ายดายราวกับการเดินล้มลงบนถนนอันแสนขรุขระ เพียงชั่วขณะที่ไม่ทันรู้ตัว เธอก็พบตัวเองล้มลุกคลุกคลานอยู่บนถนนสายนี้ และเต็มไปด้วยรอยแผล” (หน้า ๓๐๗)
(๗) “เธอรู้สึกเป็นครั้งแรกในชีวิตการทำงานว่า เรื่องราวความยุ่งยากค่อยๆ ผุดโผล่ขึ้นในชีวิตเธอ เหมือนเห็ดป่าที่งอกขึ้นบนไม้ผุทีละดอกสองดอก” (หน้า ๒๗๐)
ข้อ (๖) เป็นห้วงนึกของผานิต เมื่อทราบชัดว่า เคราะห์กรรมของผู้อ่อนยอมกำลังไล่ล่าเธอ
และ ข้อ (๗) เป็นการพรรณนาถึงชะตากรรมที่ต้องเป็นแพะรับบาป เห็ดป่า (ผุดขึ้นราวดอกเห็ด) นัยถึงความผิดที่เกิดขึ้นอย่างง่ายดาย เหมือนเห็ด (พืชที่เกิดง่ายและเร็ว) เมื่อมีความชื้นและอุณหภูมิที่ดี ไม้ผุ นัยถึงชีวิตในวัยแก่ชราที่คนมองไม่เห็นค่า เพราะรอวันผุกร่อน พังทลายถูกย่อยสลายเป็นปุ๋ยของสิ่งมีชีวิตที่จะเกิดใหม่
หากอ่านนวนิยายเล่มนี้อย่างผิวเผิน และใช้อคติร่วมอารมณ์ไปกับตัวละครร้ายๆ ก็อาจสรุปได้ทันทีว่า ผู้ประพันธ์มองระบบราชการเป็นระบบที่เลวร้ายที่ทำลายคนดีอย่างสาหัส ทั้งนี้ เนื่องจากผู้ประพันธ์ได้สะท้อนให้เห็นลักษณะตัวละครที่อัปลักษณ์ เบ่งอำนาจ เจ้าชู้ การทุจริตต่อหน้าที่ของข้าราชการระดับระดับสูง อย่างไรก็ตาม หากเมื่อพินิจนวนิยายเรื่องนี้อย่างถี่ถ้วน กลับพบว่า ตัวละครเหล่านี้ ผู้ประพันธ์มิได้ให้คุณค่าและความสำคัญเลย แต่กลับให้คุณค่ากับคนเล็กๆ ธรรมดา ทั้งตัวเอก และตัวประกอบ โดยเฉพาะท่าทีที่มีต่อตัวละครเอกทั้งสองตัว กล่าวคือ ทุกครั้งที่ตัวละครเอกตัวใดตัวหนึ่งทดท้อต่อระบบที่ชวนหดหู่ ก็มักจะได้ยินทัศนะยับยั้ง ปลุกปลอบผ่านตัวละครสำคัญแบบทันที ดังเสียงของตัวละคร ต่อไปนี้
(๘) “ดอกเตอร์อย่าออกนะคะ….หาคนอย่างดอกเตอร์ยาก (หน้า ๒๑๕)
(๙) “ผมไม่ได้หมายความว่า มันเลวร้ายจนไม่สามารถอยู่ได้ มันก็มีอะไรดีหลายอย่าง มีลักษณะแบบองค์กรโดยทั่วไป มีความมั่นคงในระดับหนึ่ง บางคนอาจอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะพอ แล้วมีองค์ประกอบที่เอื้ออำนวยจนไม่ต้องเป็นคนโง่หรือเป็นเหยื่อก็ได้” (หน้า ๓๖๓)
(๑๐) “ลูกลองคิดดูก็แล้วกัน ถ้าคนเก่งคนฉลาดพากันออกจากราชการไปหมด อะไรจะเกิดขึ้น” (หน้า ๓๖๑)
ข้อ (๘)-(๑๐) จะเห็นได้ว่า คือน้ำเสียงของผู้ประพันธ์ที่สะท้อนผ่านตัวละครดังตัวอย่างข้างต้น ยืนยันว่า “คน” ต่างหากที่ไม่ดี มิใช่ “ระบบ” ไม่ดี ถึงแม้ว่า “ระบบ” จะถูกสร้างขึ้นด้วย “คน” ดูเหมือนผู้ประพันธ์แอบตั้งความหวังว่า สำนึกเรื่อง “อุดมคติ” จะบังเกิดในบรรดาข้าราชการแต่ละคน ที่จะกลายเป็นอุดมการณ์ที่จะช่วยขจัดปัดเป่า ให้ความมืดมัวในระบบราชการชัดกระจ่างขึ้น มีหลายวรรค ที่ผู้ประพันธ์ได้พยายามแก้ต่างให้ระบบราชการ ผ่านคำพูดของศิขรา ต่อไปนี้
“ระบบราชการ ระบบซึ่งวนเวียนวกวนเหมือนน้ำที่ไหลไปหล่อเลี้ยงบ้านเมืองไหลไปช้าๆ ไหลไปเอื่อยๆ หล่อเลี้ยงได้ไม่ใช่หล่อเลี้ยงไม่ได้ อาจจะดีด้วยซ้ำไป เพราะไม่กัดเซาะสิ่งใด แต่ปัญหาก็คือเส้นทางอันวกวนของน้ำบางทีมันแตกเล็กแตกน้อยมากเกินไปจนไม่จำเป็น ดูเหมือนว่าเราจะเสียน้ำไปหล่อเลี้ยงเกินๆ เลยๆ ที่ควรเลี้ยงไม่ได้เลี้ยง ที่ไม่ควรเลี้ยงกลับต้องเลี้ยงเยอะแยะมากมาย” (หน้า ๒๑๕)
หากเราจะประเมินค่านวนิยายเรื่องนี้ คงต้องกลับไปตั้งหลักที่โจทย์ที่สามัญที่สุด คือ นวนิยายเรื่องนี้ ให้ประโยชน์ต่อความคิดอ่านของผู้วิจารณ์อย่างไรบ้าง ซึ่งอาจประมวลได้สี่ข้อ ได้แก่
การให้ความสำคัญกับภายในมากกว่ารูปลักษณ์ภายนอก: ใช่หรือไม่ว่า เรามักพบพระเอกและนางเอกในนวนิยายที่มีรูปลักษณะ และฐานะที่คู่ควรกัน กล่าวคือ พระเอกต้องรูปหล่อทันสมัย ร่ำรวย เป็นบุคคลชั้นสูง นางเอกต้องสุดสวย หากไม่เป็นหญิงชั้นสูงก็เป็นคนฐานะเทียบเท่าพระเอก แต่เรื่องนี้ ผู้ประพันธ์กลับให้ความสนใจรูปลักษณ์ของตัวเอกเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เช่น การบรรยายถึงตัวละครเอกชาย การแต่งกายและบุคลิกภาพ ดร.สารภี โดยบรรยายผ่านสายตาของศิขราว่า “เขาแต่งตัวรุ่ยๆ ร่ายๆ ยับๆ ยุ่งๆ ตรงข้ามกับทัศนัยที่ดูพิถีพิถันและประณีตทุกกระเบียดนิ้ว” (หน้า ๒๙) ส่วนลักษณะของนางเอกจะนำเสนอผ่านความคิดตัวละครอีกตัวคือทัศนัย “เขาพอใจมากที่ผู้หญิงแสนสวยคนนี้สรุปเช่นนั้น” (หน้า ๒๙) ทั้งนี้ เพราะผู้ประพันธ์มุ่งความสนใจที่คุณสมบัติภายในเป็นสำคัญ เปลือกนอกของพระเอก ดร.สารภี ที่หน้าตาผิวพรรณแบบลูกชาวบ้านทั่วไป การแต่งกายก็รุ่มร่าม แม้แต่ชื่อตัวละครตัวนี้ ใครๆ ก็ต้องคิดว่าเป็นชื่อของเพศหญิง เมื่อเป็นชื่อของพระเอก ความเป็นพระเอกที่ไม่หล่อและเชย ได้รวมความเป็นบ้านนอกไปด้วย อย่างไรก็ตาม ผู้ประพันธ์ก็ชดเชยด้วยการกำหนดคุณสมบัติเชิงคุณภาพให้ คือมีความคิดอ่าน มีอุดมคติ มีความรักในงานที่ทำ ปรารถนาจะสร้างงานให้องค์กรเป็นที่ยอมรับเชื่อถือ และเป็นคนตรงไปตรงมา ในขณะที่ตัวละครประกอบอย่างทัศนัยนั้น แม้มีคุณสมบัติภายนอกดี แต่ไม่มีคุณสมบัติภายในเชิงคุณภาพ วันๆ ไม่ทำงาน เฝ้าแต่จะเล่นบทเจ้าชู้เป็นนิสัยประจำ แม้จะมีภรรยาจดทะเบียนกันแล้ว และการที่มีพฤติการณ์เช่นนี้ จึงนำไปสู่ความยุ่งยากในชีวิต ทั้งได้ดึงรั้งให้ชีวิตลอออรผู้หญิงสวยแต่ไม่มีคุณสมบัติเชิงคุณภาพเช่นกัน ต้องล้มเหลวพังภินท์ไปด้วย
การให้คุณค่ากับสิ่งเล็กๆ ธรรมดา : ตัวละครประกอบเล็กๆ โดยเฉพาะคนที่มักถูกมองว่าไร้ประสิทธิภาพ เช่น ถนอม ฟุ้งหอม ชายขี้เมาประจำกรม นวนิยายเรื่องนี้ กลับแสดงให้เห็นว่า ตัวละครตัวนี้กลับมีท่าทีกล้าหาญทางจริยธรรมมากกว่า และสำนึกผิดชอบชั่วดีมากกว่าคนที่มีตำแหน่งและอำนาจสูงกว่า ดังกรณีที่นายถนอม เมื่อรู้ว่าตนไม่ได้แจ้งสถานะหย่าขาดจากภรรยา กลับมีความกลัวผิดและสำนึกถึงการที่ตนทำผิดต่อกฎระเบียบ ในขณะเดียวกัน เมื่อมาพิจารณาข้าราชการที่อยู่เหนือขึ้นไปกว่านายถนอมอีกหลายคน เช่น อธิบดีวีนัส เสมา รองอธิบดีประจำ รองอธิบดีพิรัชพันธ์ ผอ.ตระหง่าน ฝ่ายกฎหมาย สุธรรม รักสิน จะเห็นได้ว่า ตัวละครเหล่านี้ล้วนถูกสร้างขึ้นมา ให้ไร้ความกล้าทางจริยธรรม ขาดหิริโอตตัปปะหรือกลัวต่อการกระทำผิดบาป หรือว่า ผู้ประพันธ์กำลังบอกแก่กับผู้อ่านว่า อำนาจ ตำแหน่ง คือแหล่งเพาะพันธุ์ความเลว
การให้อภัย คือการให้ที่ดีที่สุด: ตัวละคร ผานิต ผู้มองโลกในแง่ดี อ่อนน้อมถ่อมตน เชื่อฟังผู้บังคับบัญชา น้อมรับนโยบายและปฏิบัติตามผู้บังคับบัญชาโดยไม่เคยเถียง แม้ว่าจะได้รับมอบหมายให้ทำงานหนักหรืองานเบาอย่างไร สุดท้ายเธอก็ถูกฆาตกรรมทางราชการโดยถูกให้ออก และถูกฆาตกรรมที่ตำรวจก็สรุปหาสาเหตุที่แน่ชัดไม่ได้ ความน่าทึ่งของตัวละครตัวนี้ ดำรงตนอยู่คำว่า “ไม่เป็นไร” ด้วยวุฒิภาวะของผู้พร้อมให้อภัยคนทุกผู้ แม้ผู้นั้นจะกระทำต่อเธออย่างสาหัส ในท้ายเรื่องที่ นิมิตของพระสารภิกขโร (ดร.สารภีขณะเป็นสมณะ) ที่พยายามซักถามวิญญาณผานิตถึงฆาตกรที่กระทำฆาตกรรมเธอ แต่จิตวิญญาณอันบริสุทธิ์ของผานิต ได้บอกว่า “อย่าสงสัยเลย อย่าโกรธอีกเลย แผ่เมตตาเสียเถิด” ผานิต กำลังบอกอะไรแก่ผู้อ่าน ซึ่งไม่เพียง แค่บอก แต่กำลังท้าทายจิตมนุษย์ทุกผู้ทุกนามว่า กล้าหาญพอที่จะให้ในสิ่งที่ยากที่สุดหรือไม่ ซึ่งก็คือ การให้อภัยแก่ผู้ที่เคยทำร้ายเรา
การต่อสู้ทางอุดมคติมิอาจสำเร็จโดยง่าย หากต้องอดทนหยัดยืนจนถึงที่สุด: การยึดถือในสิ่งถูกต้อง และปฏิบัติตรงไปตรงมาของตัวละครเอก ที่กลายเป็นการไปท้าทายอำนาจของผู้ที่มีตำแหน่งสูงกว่า ที่มักประพฤติไม่ตรงไปตรง กลับถูกตีค่าว่า เป็นคนแผลงๆ คนประหลาดขององค์กร กระทั่ง ถูกกล่าวหาว่าไร้จริยธรรม ทำให้ ดร.สารภี ถูกกลั่นแกล้งจากผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่า อย่างไรก็ดี เขาก็มิเคยที่จะยอมอ่อนข้อต่อสิ่งที่ไม่ถูกต้อง แม้จะท้อในหลายครั้ง แต่ก็ปลุกพลังใจเพื่อต่อกรเสมอมา แม้จะมิได้ชัยชนะเมื่อจบเรื่อง ทั้งนี้เพราะการต่อสู้ทางอุดมคตินั้น มิอาจจะได้ชัยชนะโดยง่าย แม้ ดร.สารภี จะลาออก เพราะไม่ต้องการเป็นเบี้ยในกระดานหมากรุกของผู้ที่อยู่เหนือขึ้นไป แต่ก็มีคนที่มีอุดมคติคนใหม่บรรจุเข้ามาแทน และเมื่อสืบย้อนไปในอดีตในกรมนี้ ก็มีนักอุดมคติ เช่น นายอบ ชื่นเย็น ที่ต้องจบชีวิตข้าราชการด้วยเวลาอันสั้นและหาสาเหตุไม่พบ เพราะกล้าหาญที่เสนอให้มีการตรวจสอบจรรยาของข้าราชการในกรม และต่อๆ มาก็มีนักอุดมคติเปลี่ยนหน้าเข้ามาเสมอ แม้ในภายหลังจะเปลี่ยนแปลงไปก็ตาม ก็ขึ้นอยู่กับความแข็งแกร่งทนทาน หยัดยืนกับอุดมคติของตนเพียงใด อย่างไรก็ตาม แม้ ดร.สารภี ลาออก แต่เขาไม่ได้ยอมแพ้ ศิขรา ยังคงรับราชการต่อไป หน่วยงานราชการยังคงเพรียกหานักอุดมคติ ทั้งนี้ เพราะอุดมคติจะทำให้หน่วยงานองค์กรดำรงคงอยู่ต่อไปได้ หากปราศไร้นักอุดมคติแล้วไซร้ โลกนี้คงพังพินาศไปนานแล้ว
ในตอนท้ายเรื่อง นารทได้กล่าวแก่ศิขราหลานสาว อันเป็นการเน้นย้ำว่า เรามิควรด่วนสรุปว่า เส้นทาง(งานราชการ) ที่เราเดินอยู่นั้นดีไม่ดี หากคนเดินต้องพิสูจน์รอยเท้าของตัวเองก่อนว่า เราเดินได้ดีแค่ไหน
“ทางที่เราเดิน ถ้ามันเป็นทางเดินที่ดี คนอื่นเขาก็เดินตามเองนั่นแหละ” (หน้า 369)
“เช้าครึ่งชาม เย็นครึ่งชาม” นวนิยายที่ผู้ประพันธ์จงใจตั้งชื่อเรื่องล้อเลียนสำนวนที่เปรียบกับระบบราชการที่มีลักษณะการทำงานที่ทำตามหน้าที่ไปเรื่อยๆ โดยไม่ใส่ใจจริงจัง ด้วยน้ำเสียงเสียดสีประชดประเทียด ด้วยกลวิธีทางบันเทิงคดี ประกอบสร้างตัวละคร ฉาก ดำเนินเรื่องโดยเน้นเหตุการณ์และบทสนทนาของตัวละคร ประสบการณ์ของผู้ประพันธ์ที่ผ่านการเคี่ยวกรำการประพันธ์บันเทิงคนดีมามาก เคยเป็นข้าราชการ ทั้งได้รับเคราะห์กรรมที่ตนไม่ได้ก่อขึ้น เนื่องจากติดร่างแหไปกับคดีความเกี่ยวกับเครื่องราชย์อิสริยาภรณ์ และกลายเป็นคดีที่ต้องต่อสู้คดีในศาล และใช้เวลาในการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนนานถึง ๒๒ ปี การสร้างเนื้อเรื่องจึงสมเหตุสมผล กอปรกับความสามารถสูงในการประกอบภาษาอย่างมืออาชีพ จึงทำให้การนำเสนอแนวคิดชัดเจนและตรงประเด็น เช้าครึ่งชาม เย็นเครื่องชาม จึงเป็นนวนิยายที่มีเนื้อหากลมกลืน ภาษากลมกล่อมชวนติดตาม ผู้อ่านจะได้รับความสำราญอารมณ์ไปพร้อมกับข้อคิดที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิต พลังแห่ง วรรณกรรมที่สะท้อนภาพความบกพร่องของพฤติกรรม และการยึดถือความดีงามของตัวละคร จะกลายเป็นบทเรียนและความบันดาลใจแก่ผู้อ่าน ที่อาจส่งผลในการกระตุกปลุกตื่นให้ใครๆ ได้ปรับปรุงสำนึกทางบวกกระทั่งก้าวไปถึงการค้นพบ “ดวงดาวนำวิถี” ซึ่งจะเป็นพาหนะนำพาไปสู่บรรลุถึงความดีสูงสุด ที่จะก่อผลดีแก่ตนและเป็นพลังเล็กๆ ในการช่วยสร้างสังคมให้น่าอยู่และมีสันติสุขในที่สุด

ความคิดเห็น