บทคัดย่อ
วันที่หัวใจกลับบ้าน เป็นผลงานเล่มที่ 40 ของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล อดีตผู้นำขบวนต่อต้านเผด็จการในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และอดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นนักวิชาการทางรัฐศาสตร์ และเป็นนักเขียนที่มีผลงานหลากหลายประเภท ปี 2552 ได้รับการประกาศเกียรติคุณเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ วันที่หัวใจกลับบ้าน เป็นความเรียง 18 เรื่อง มุ่งนำเสนอแนวคิดสำคัญ คือ เพื่อสำรวจ ค้นหา สิ่งที่เป็นภาวะจิตที่ไปผูกพันยึดเกาะ และเรียนรู้ เฝ้าระวัง ฝึกฝนที่จะไถ่ถอนจากสิ่งที่ยึดติดหน่วงเหนี่ยวนั้นสู่อิสระและความสงบ ด้วยภาษาจากการสรรคำที่ประณีต และการใช้ภาพพจน์ต่างๆ ที่มีประสิทธิภาพ ทำให้การนำเสนอสารทางจิตวิญญาณบรรลุเป้าประสงค์อย่างงดงาม

คำสำคัญ: วันที่หัวใจกลับบ้าน, เสกสรรค์ ประเสริฐกุล, มิติทางจิตวิญญาณ, ความสงบภายใน

Abstract
The Day the Heart Returned Home was the 40th work of Seksan Praseotkun, a former leader of the procession against dictatorship on October 14, 1973 and former Dean of the Faculty of Political Science, Thammasat University, was a political science scholar and was a writer with a wide range of works. In the year 2009, he was honored as a national artist in Literary Art. The day the heart returned home was an essay of 18 stories aimed at presenting important concepts: to explore, to discover what was a mental state that attaches to, and to learn, watch, and practice to redeem from that attachment to freedom and peace, with the language from the elaborate words and the use of effective figures of speech, leading to achievement of a beautiful spiritual presentation.

Keywords: The Day the Heart Returned Home, Seksan Praseotkun, Spiritual Dimension,
Inner Peace

บทนำ
เสกสรรค์ ประเสริฐกุล เกิดเมื่อวันที่ 28 มีนาคม พุทธศักราช 2492 ที่อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ศึกษาชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้นที่โรงเรียนบางประกงบวรวิทยายน ตำบลบางประกง จังหวัดฉะเชิงเทรา สำเร็จมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนชลกันยานุกูล จังหวัดชลบุรี ได้รับทุน AFS เป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนไปศึกษา ชั้นมัธยมศึกษาในสหรัฐอเมริกาในระหว่าง พ.ศ. 2510-2511 จากนั้นกลับมาศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย จนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อ พ.ศ. 2517 และระหว่าง พ.ศ. 2524-2532 ศึกษาต่อในประเทศสหรัฐอเมริกา จนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทและปริญญาเอก สาขาวิชารัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยคอร์แนลล์ เริ่มเขียนวรรณกรรมตั้งแต่ศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 2 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยเขียนเรื่องสั้น บทกวี บทความ ลงในหนังสือต่างๆ ที่นักศึกษาจัดทำขึ้น นอกจากนี้ยังส่งข้อเขียนบางชิ้นลงพิมพ์ในสยามรัฐรายวัน ขณะอยู่ชั้นปีที่ 4 เสกสรรค์ ได้ส่งเรื่องสั้นเข้าประกวดรางวัลพลับพลามาลี และได้รับรางวัลที่ 3 ก่อนเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ได้เข้าประจำกองบรรณาธิการวิทยาสาร งานเขียนเรื่องแรก คือ สงครามอินโดจีนในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เสกสรรค์ เป็นผู้นำนักศึกษาคนสำคัญ ทำหน้าที่เป็นผู้บัญชาการและควบคุมการเดินขบวนประท้วงรัฐบาลไปตามถนนราชดำเนิน เป็นผู้ประพันธ์บทเพลง “สู้ไม่ถอย” ซึ่งใช้ขับร้องร่วมกันในระหว่างชุมนุม นอกจากนี้ยังได้ปราศรัยในฐานะผู้นำนักศึกษาระหว่างการชุมนุม สร้างพลังปลุกเร้าจิตใจมวลชนให้ยืนหยัด ต่อสู้ จนได้ชัยชนะ เสกสรรค์ ประเสริฐกุลและผู้นำนักศึกษาอื่นๆ ได้กลายเป็นวีรบุรุษในใจคนหนุ่มสาวสาวยุคนั้น (สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ, 2552: 92)
การต่อสู้ทางเมืองหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ทวีความรุนแรงขึ้น เมื่อรัฐบาลได้ปฏิบัติการกดดันผู้ต่อต้านทุกรูปแบบ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล จึงได้ตัดสินใจเดินทางเข้าป่าเพื่อร่วมขบวนปฏิวัติของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ในช่วงก่อนเกิดเหตุ 6 ตุลาคม 2519 เล็กน้อย แต่ต่อมามีความคิดขัดแย้งกับพรรคอย่างรุนแรง เสกสรรค์เห็นว่าพรรค ไม่มีความเป็นประชาธิปไตย จึงขอลาออกจากขบวนการปฏิวัติและออกจากป่าพร้อมกับภรรยา ขณะเดียวกันความขัดแย้งภายในขบวนปฏิวัติประกอบกับการดำเนินนโยบาย 66/23 ของรัฐบาล ก็ได้ส่งผลให้นักศึกษาและประชาชนทยอยกลับมาร่วมพัฒนาชาติไทยเป็นจำนวนมาก จากนั้นเสกสรรค์ได้เดินทางไปศึกษาที่มหาวิยาลัยคอร์แนลล์ สหรัฐอเมริกา จนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก สาขารัฐศาสตร์
หลังจากได้ใช้ชีวิตอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นเวลา 10 ปี เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ได้เดินทางกลับประเทศไทย และเข้าทำงานเป็นอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์จนเกษียณอายุราชการใน พ.ศ. 2552 ทั้งนี้ในระหว่างปี พ.ศ. 2536–2538 เสกสรรค์เคยดำรงตำแหน่งคณบดีคณะรัฐศาสตร์ นอกจากนั้นยังทำงานให้แก่สังคมภายนอก เช่น เป็นเลขาธิการคนแรกของมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร และเป็นประธานกลุ่มประชาธิปไตยเพื่อประชาชน (ปxป) ปัจจุบันแม้เกษียณอายุราชการแล้ว ก็ยังเป็นอาจารย์พิเศษสอนนักศึกษาปริญญาเอก และเป็นกรรมการอำนวยการของสถาบันสัญญา ธรรมศักดิ์ ของมหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร (สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ, 2552: 93)
ในด้านวรรณกรรม เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ได้สร้างสรรค์วรรณกรรมขึ้นหลายรูปแบบ ทั้งเรื่องสั้น เรื่องสั้นขนาดยาว ความเรียง บันทึก กวีนิพนธ์ บทปาฐกถา บทวิจารณ์วรรณกรรม งานแปล งานเขียนชิ้นแรกเกิดขึ้นใน พ.ศ. 2512 ได้ตีพิมพ์รวมเล่มครั้งแรก พ.ศ. 2516 เสกสรรค์ก็ได้สร้างสรรค์ผลงานอย่างต่อเนื่อง โดยเขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์ และนิตยาสารต่างๆ เช่น ผู้จัดการรายวัน ผู้จัดการรายสัปดาห์ มติชนรายวัน สู่อนาคต ชีวิตกลางแจ้ง Travel Guide นิตยาสาร ฅ.คน เป็นต้น เมื่อนำมารวมเล่ม ผลงานหลายเล่มได้รับการตีพิมพ์ซ้ำแล้วซ้ำอีก ปัจจุบันมีหนังสือทั้งสิ้น 45 เล่ม ไม่นับการตีพิมพ์ซ้ำ
วรรณกรรมของเสกสรรในช่วงก่อนปี 2544 ส่วนใหญ่เน้นการวิพากษ์สังคมอย่างเข้มข้น น่าสังเกตว่า ช่วงหลัง พ.ศ. 2544 เป็นต้นมา เนื้อหาที่เน้นความเข้มข้นในการวิพากษ์วิจารณ์สังคมกลับลดน้อยลงไปมาก กลับมุ่งเน้นวิจารณ์ตนเองเป็นด้านหลัก แต่ปมประเด็นยังอยู่ที่เหตุการณ์สำคัญในอดีตของชีวิตที่ต่อสู้กับทหาร กับพรรคคอมมิวนิสต์ สายตาการมองแบบแตกต่างลดน้อยลงสู่ภาวะเข้าใจจิตภายในของตนเอง หนังสือ วิหารที่ว่างเปล่า เป็นจุดพลิกผัน การสร้างตัวตนใหม่ ที่หันมาสลายตัวตนอย่างจริงจังจากเคยใช้สรรพนามบุรุษที่หนึ่งเล่าเรื่อง หันมาใช้บุรุษที่สามแทน ความกระตือรือร้นในการแสดงออกทางการเมืองลดน้อยลง กระทั่งไม่อยากเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง เนื่องจากบทเรียนที่ผ่านมา ทำให้เรียนรู้ว่า ไม่มีสิ่งใดเป็นอย่างใจตนในสังคมที่ไม่เคารพความเท่าเทียมกัน และมองเห็นว่าการต่อสู้ทางการเมือง สุดท้ายแล้วก็มักจบลงที่ว่า ชนชั้นนำประสงค์จะให้เป็นไปแบบใด วรรณกรรมชุดต่อๆ มา เช่น ผ่านพบไม่ผูกพัน (2548) อำนาจแห่งความว่างความว่างแห่งอำนาจ (2551) บุตรธิดาแห่งดวงดาว (2552) ล้วนมีเนื้อหามุ่งเน้นในการสื่อสารทางจิตวิญญาณแก่ผู้อ่าน

การวิเคราะห์เนื้อหา
วันที่หัวใจกลับบ้าน เป็นผลงานเขียนเล่มที่ 40 ของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ที่มุ่งเน้นการนำเสนอแก่นสารลงลึกไปยังจิตใจที่ต้องสืบย้อนไปถึงจุดกำเนิดแรกเริ่ม มองย้อนออกไปไกลเพื่อให้คนสำนึกว่า การมีอยู่ของคนในปัจจุบัน เกิดจากสิ่งที่ใหญ่กว่าคนมหาศาล การสำนึกถึงสิ่งที่ใหญ่กว่า ทำให้คนมีความเป็นมนุษย์ที่มีความหมาย
วันที่หัวใจกลับบ้าน ประกอบด้วย ความเรียง 18 เรื่อง อาจแบ่งเนื้อหาออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ การเดินทางไปยังภูมิประเทศต่างๆ แม่น้ำ ภูผา ป่าไพร 4 เรื่อง ได้แก่ สัมผัสใน ขุนเขาแห่งความว่าง ภูมิประเทศอันยากยิ่ง และ ห้วยภาวนา รูปธรรมของความไม่เท่าเทียมกันในสังคมไทย 3 เรื่อง ได้แก่ ความเงียบในเสียงปืน เมื่อเมืองหลวงน้ำหนักเกิน ดารา ชาวนา เด็กกำพร้า และขอทาน และในโลกสีเทา สถานการณ์ความรัก ความผูกพัน และการพลัดพราก 3 เรื่อง ได้แก่ บาดแผลบางประเภท ซอกมุมที่พักพิง และสายน้ำไม่หวนกลับ และการฝึกฝนสภาวะจิตสู่ความสงบภายใน 8 เรื่อง ได้แก่ ทางโลกทางธรรม วันที่หัวใจกลับบ้าน ความเป็นครู ท่ามกลางความชิงชังรังเกียจ คนกับป่า คนกับคน โอมิโอแห่งคลองปลากั้ง และที่พักในสายน้ำ
อย่างไรก็ตาม ความเรียงทุกเรื่อง จะใช้ประวัติชีวิตในอดีตของตนเป็นฉากหลัง บางครั้งเป็นการย้อนถึงชีวิตวัยเยาว์ บางครั้งย้อนถึงความผิดพลาดบางประการ โดยมากเป็นการย้อนถึงชีวิต “นักรบ” บนผาภู เมื่อครั้งเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่ประเทศไทย ทั้งนี้ เหมือนเป็นการทบทวนอดีตเพื่อแก้ไขปัจจุบัน สะท้อนการเติบโตทางจิตวิญญาณ การพัฒนาลักษณะนิสัยจากเดิมที่เคยมุทะลุ ไม่กลัวใคร มีลักษณะเป็นนักเลงโบราณที่ไม่เคยปฏิเสธคำท้าของผู้ใด และพร้อมใช้กำลังเพื่อแก้ปัญหาแบบที่คุ้นช้น สู่การฝึกฝน ขัดเกลาตนเอง และมีเหตุมีผลมากขึ้น เข้าใจความเป็นจริงในบริบทสังคมและวัฒนธรรมไทยมากขึ้น ดังข้อความ

ตัวอย่าง การนำเสนอเนื้อหา การเดินทางไปยังภูมิประเทศต่างๆ

(1) “เขาไม่เคยมาบางน้อย แต่รู้สึกเหมือนเคยมา ไม่เพียงเคยมา หากในบางมิติยังรู้สึกเหมือนเคยอยู่ กระทั่งในบางวูบของห้วงขณะ เขาไม่แน่ใจเหมือนกันว่า ตัวเองคือเด็กน้อยวัยห้าขวบที่กำลังมองโลกของตนผ่านสายตาของชายชรา หรือเรื่องทั้งหมดมีแต่ตาแก่คนหนึ่งกำลังนึกถึงวัยเด็กที่หายไป” (หน้า 20)

(2) “ดึกสงัด…เขาบอกกับประกายดาวบนผิวน้ำว่า สรรพสิ่งเป็นเช่นนั้นเพราะมันเป็นเช่นนั้น เขาไม่ได้มาที่นี่เพื่อคันหาวัยหนุ่มที่ตกหาย หากประสงค์เพียงเติมเต็มให้กับวัยชราที่เพิ่งมาเยือน…การเดินทางรอบขุนเขาแห่งอดีตด้วยอารมณ์ปล่อยวาง ก็แค่สร้างรูปลักษณ์ให้กับวันเวลา…รูปคือความว่าง ความว่างก็คือรูป…ใช่หรือไม่ว่านี่คือความจริงที่อยู่เหนือสิ่งขัดแย้งทั้งปวง” (หน้า 76)

ตัวอย่าง การนำเสนอเนื้อหา รูปธรรมของความไม่เท่าเทียมกันทางสังคม

(3) “เขาและนักอุดมคติรุ่นเดียวกันต้องพบกับความพ่ายแพ้ล้มเหลวในความพยายามกอบกู้ชีวิตของชาวไร่ชาวนา ถึงวันนี้โลกของของชาวนายิ่งเลวลง ขณะที่คนรุ่นเขายิ่งมาหมดเรี่ยวแรง” (หน้า 135)

(4) “ใช่หรือไม่กว่า 100 ปีมาแล้วที่กรุงเทพฯ ริบอำนาจในการกำหนดตนเองของท้องถิ่นทั่ว
ราชอาณาจักรมาไว้ที่นี่ และราว 50 ปี ที่ผ่านมา แผนพัฒนาเศรษฐกิจแบบเผด็จการก็ยิ่งขยายความ
แตกต่างระหว่างกับชนบทให้ถ่างกว้างจนแทบเป็นคนละประเทศ” (หน้า 129)

(5) “จริงอยู่ ผู้หวังดีจำนวนไม่น้อยต่างออกมาเรียกร้องให้คนไทย ‘รักกันไว้เถิด’ ซึ่งหมายถึงว่าพลังที่รักสันติยังคงมีอยู่มากพอสมควร ท่านเหล่านี้ย่อมไม่อยากเห็นความรุนแรงอย่างที่เกิดขึ้นอีกต่อไป…แต่ปัญหาเชิงโครงสร้างที่ร้ายแรงระดับนี้ไหนเลยจะแก้ไขได้ง่ายดายปานนั้น อย่าว่าแต่ในโลกของปุถุชน ความรักย่อมไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นดื้อๆ โดยไม่มีที่มาที่ไป…ใช่หรือไม่ว่าหลายปีที่ผ่านมา ระบบเศรษฐกิจการเมืองและการศึกษาวัฒนธรรม (ที่เป็นจริง) ในประเทศนี้ ไม่เคยสอนให้ใครรักใครเลยถ้าไม่ได้ผลประโยชน์อะไรตอบแทน (หน้า 130-131)

(6) “ยิ่งนึกไปเขาก็ยิ่งสงสัยไม่ได้ว่าความเป็นประชาธิปไตย “แท้จริง” กับประโยชน์สุขของส่วนรวมในประเทศไทยที่ผู้นำทุกฝ่ายเอ่ยอ้างถึง แท้จริงคือม่านรุ้งที่มีไว้ปิดบังสิ่งใด” (หน้า 117)

ตัวอย่าง การนำเสนอเนื้อหา สถานการณ์ความรัก ความผูกพัน และการพลัดพราก

(7) “ชีวิตที่เคยใช้ไปในการเดินตามอุดมคตินั้น แท้จริงแล้วมันไม่ใช่ชีวิตของเขาคนเดียว และยิ่งไม่ใช่เขาคนเดียวที่ต้องจ่ายราคา” (หน้า 207)

(8) “บางทีการเป็นที่รักและไว้ใจของผู้อื่นนั้น ควรนับเป็นบาปเคราะห์เสียมากกว่าคำอวยพร” (หน้า 34)

(9) “เขามีเหตุผลสารพัดที่จะอธิบายเส้นทางชีวิตของตัวเอง แต่ลึกเข้าไปข้างในแล้วก็อดไม่ได้ที่จะรู้สึกผิดอยู่ในบางเรื่องบางราว คนเราเมื่อผ่านโลกมานานพอ ใช่หรือไม่มักมีจุดเจ็บในใจที่เหตุผลทั้งปวงไม่อาจเยียวยา” (หน้า 106)

ตัวอย่าง การนำเสนอเนื้อหา การฝึกฝนสภาวะจิตสู่ความสงบภายใน

(10) “ในวัยหนุ่ม เขาเองไม่เคยคิดจะก้มยอมให้กับค่านิยมของกระแสหลัก ซึ่งเขาเห็นว่าทั้งแคบและตื้น มิหนำซ้ำยังวางอยู่บนโครงสร้างทางสังคมที่ปราศจากความเป็นธรรม ยามนั้น วัยนั้น เขาไม่เพียงถอยห่างจากวิถีที่ตัวเองรังเกียจ หากยังไกลถึงขั้นทุ่มชีวิตเปลี่ยนแปลงมัน” (หน้า 23)

(11) “เงื่อนไขที่จำเป็นกว่านี้คือ การเปลื้องเปลือยตัวเองออกจากชุดความคิดทั้งปวง เพื่อเข้าสู่สภาวะสัมผัสตรง รู้จักตรง จากนั้นสลายเส้นแบ่งระหว่างผู้สัมผัสกับสิ่งที่ถูกสัมผัส จนไม่มีการเข้ามาหรือออกไป” (หน้า 142)

(12) “ชีวิตคนเรานั้นช่างเต็มไปด้วยหลุมบ่อทางอารมณ์ หากไม่เจริญสติไว้อย่างต่อเนื่อง ก็ยากนักที่จะไปถึงประตูธรรม” (หน้า 188)

(13) “เขาเอง ไม่รู้เหมือนกันว่าหลายปีที่ผ่านมา อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้ตนเองเปลี่ยนจากการใช้ความคิดเป็นตัวตั้งมาเป็นถือมนุษย์เป็นตัวตั้ง ทั้งๆ ที่ในช่วงหนึ่งยาวนานเขาก็เคยพร้อมแตกหักรุนแรงเพื่อปกป้องอุดมคติของตน” (หน้า 118)

การวิเคราะห์กลวิธีแต่ง
เสกสรรค์มักเปิดเรื่องคล้ายงานเขียนบันเทิงคดี เช่น นวนิยาย หรือเรื่องสั้น กล่าวคือ มีใช้การบรรยายฉากด้วยภาษาที่พลิ้วไหวไปกับบรรยากาศในห้วงเวลานั้น จากนั้นค่อยบรรยายถึงความนึกคิด หรือท่าทีของตัวละคร

ตัวอย่าง การเปิดเรื่องด้วยการบรรยายฉาก

(14) “หมอกเข้าคลี่คลุมทุ่งโล่งและปิดทับด้วยเทือกเขาในฉากหลัง ขณะที่แนวสนข้างแคมป์ก็พร่าเลือนราวต้นไม้ในความฝัน เขายืนนิ่งอยู่ในความว่างสีขาวด้วยความรู้สึกเงียบอึ้ง ใจเลือนหายไปกับเมฆหมอกได้พักหนึ่งแล้ว แต่กายยังแยกจากทุกอย่างรอบๆ ตัว” (หน้า 68)

จาก (14) เป็นการใช้ภาพพจน์บุคลาธิษฐาน และอุปมา เพื่อให้ผู้อ่านมองเห็นภาพ และร่วมรู้สึกไปกับตัวละครที่กำลังเพริดกับสิ่งที่เห็นเบื้องหน้าและการจดจ่อสูดรับโอโซนกับบรรยากาศยามรุ่งอรุณ

ตัวอย่าง การเปิดเรื่องเรื่องแบบการเล่าเรื่อง

(15) “เขามีอายุครบ 60 ปี เมื่อเดือนมีนาคม…มิตรสหายบางคนเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงานเลี้ยง บ้างอยากพิมพ์หนังสือเพื่อยกย่องสรรเสริญ และมีอยู่ไม่น้อยเฝ้าถามว่า ว่าต่อจากนี้จะทำไร” (หน้า 35)

การบอกเล่าในลักษณะชวนคุย เป็นการยื่นไมตรีแรกเริ่มแก่ผู้อ่าน ทำให้บรรยากาศการส่งสารรับสารคลี่คลายและพร้อมสำหรับการส่งและรับต่อไป

เมื่อเปิดเรื่องภายในหนึ่งหรือสองย่อหน้าแล้ว จากนั้นจะเป็นการไล่เรียงครุ่นคิดย้อนไปถึงเหตุการณ์ในอดีต วันเยาว์ วันหนุ่มที่กล้าหาญ สถานการณ์ในอดีตที่เป็นจุดเจ็บ ฉากในอดีตถูกสื่อสารออกมาผ่านการครุ่นคำนึง จากนั้นจะเริ่มวกกลับมาที่การสำรวจตัวตนในปัจจุบันขณะ กล่าวถึงความผิดพลาดของตนในอดีต การยึดติดกับอุดมคติแล้วใช้พลังต่างๆ ปกป้องมันไว้ และในระหว่างนั้น จะมองเห็นความพยายามฝึกตน ทั้งการให้เหตุผล และมักจบด้วยข้อความที่เป็นความรวบยอดของเรื่องราวที่กล่าวมา ดังตัวอย่าง

(16) “คนเรา…เวลาได้อยู่ “บ้าน” เงียบๆ มักไม่ค่อยคิดว่า ตัวเองเป็นใคร” (หน้า 199)

การปิดเรื่อง ในเรื่อง “ห้วยภาวนา” ที่เสกสรรค์เดินทางไปพักค้างแรม ณ ที่สูงของเทือกเขาอันซับซ้อน ขณะซึมซับกับบรรยากาศของปลีกวิเวก ห่างไกลจากผู้คน และหนังสือ “วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร” ที่หยิบมาอ่านด้วย และขณะที่ลงไปแช่น้ำในร่องห้วย ปล่อยให้ปลามาตอดตามร่างกาย เขากลับรู้สึกกับปลาที่ไม่เหมือนเดิมที่เคยมองว่าคือมันเป็นอาหาร ทั้งนี้เนื่องจากที่ผ่านมากิจกรรมที่เสกสรรค์ทำเป็นประจำคือตกปลาล่าสัตว์ ภาวะดังกล่าวทำให้เขาแทบจะร้องไห้ออกมา ภาวะภายในเปรียบเสมือนการที่เขานอนและฝันร้ายเมื่อตื่นขึ้นมาก็พบว่า ตัวเขาอยู่ที่เดิม เหมือนการที่เขาได้กลับบ้าน “ตรงนี้ต่างหากคือบ้าน…ไม่ใช่…ห้วงยามนี้ต่างหากคือบ้าน…บ้านไม่ใช่สถานที่ บ้านคือความรู้สึกภายใน” (หน้า 197)

(17) “จากนั้นมาเขาก็เริ่มรู้สึกกลัวการเป็นที่รักและไว้ใจของผู้ใด” (หน้า 35)

เป็นการปิดเรื่อง ในเรื่อง “บาดแผลบางประเภท” เนื้อเรื่องกล่าวถึงความผูกพันของเสกสรรค์กับสุนัข 3 ตัว ที่เขาเลี้ยง และสุนัขทั้ง 3 ตัว ก็ต้องจากไปด้วยความจำเป็นและเหตุผล กล่าวคือ สุนัขตัวแรก คือ “ตูบ” เมื่ออายุมากขึ้น ตูบล้มป่วยด้วยสารพัดโรคที่แพทย์ไม่อาจรักษา เขาตัดสินใจให้แพทย์ฉีดยาให้มันตายพ้นจากการทรมาน ตัวที่ 2 คือ “ซิมบ้า” สุนัขพันธุ์ผสมระหว่างรอดไวเลอร์กับสุนัขไทยข้างถนน พอเติบโตได้ที่ เริ่มกัดคนไม่เลือกตามสัญชาตญาณที่ได้รับจากพ่อแม่ของมัน เขาจำต้องส่งมันให้แก่ผู้เต็มใจอุปถัมภ์ดูแลคนต่อไป ตัวที่ 3 คือ “บั๊ก” เมื่อมันล้มป่วยและแพทย์ไม่มีทางรักษา เขาก็ตัดสินใจเช่นเดียวกับกรณีของ “ตูบ” การจากไปของสุนัขที่ทั้งเขาและสุนัขมีความผูกพันกันอย่างมาก แต่การกระทำของเขา เขาถือว่าเป็น “บาดแผล” ในใจ ที่กระทำต่อสิ่งที่ตนรัก และรักตนอย่างเลือดเย็น “แน่ละ มันไม่ใช่เรื่องง่ายที่เขาจะต้องแบกความรู้สึกว่าตัวเองเป็น “ผู้ทรยศ” แต่เพื่อนแท้ทั้ง 3 ตัว แต่เขาก็อดรู้สึกไม่ได้ว่า อย่างน้อยตนเองได้มอบผ้าห่อศพที่สวยงามให้กับความฝันที่ตายแล้ว” (หน้า 35)

คุณค่าที่โดดเด่นอันเป็นคุณสมบัติของนักเขียนคือ ความสามารถทางวรรณศิลป์ในระดับเป็นนายของภาษา ไม่ว่าจะเป็นการสร้างคำ การใช้อุปมา (Simile) การใช้อุปลักษณ์ (Metaphor) บุคลาธิษฐาน (Personification) คำถามเชิงวาทศิลป์ (Rhetorical Question) และการซ้ำกระสวนประโยค (Repeating Pattern) โดยมักใช้ภาพพจน์ซ้อนกันหลายชนิดในข้อความเดียวกัน ดังนี้

การใช้อุปมา (Simile) หมายถึง การเปรียบเทียบของสิ่งหนึ่งให้หมือนหรือคล้ายกับอีกสิ่งหนึ่ง โดยเพ่งเล็งที่รูปสมบัติหรือลักษณะสมบัติเป็นสำคัญ โดยใช้คำเปรียบต่างๆ เป็นคำเชื่อม เช่น กล ดัง ดุจ ประหนึ่ง เล่ห์ ประเล่ห์ เพียง ถนัด ละม้าย แม้น เหมือน เฉก เช่น เฉกเช่น ราว ราวกับ เป็นต้น (สมเกียรติ รักษ์มณี, 2551:73)

(18) “กลางคืนคือเงาของกลางวัน โลกส่วนที่สว่างอำพรางโลกที่มืดมิด เฉกเช่นรอยยิ้มบนใบหน้ากับรอยหม่นในหัวใจที่สามารถเกิดคู่กันได้ในห้วงเดียวกัน” (หน้า 192)

ความจริงของกลางวันกลางคืน คือ การเกิดขึ้นจากการหมุนรอบตัวเองของโลกจากทิศตะวันตกไปยังทิศตะวันออก ด้านที่หันรับแสงอาทิตย์เป็น “กลางวัน” และด้านตรงข้ามที่ไม่ได้รับแสงอาทิตย์เป็น “กลางคืน” เช่นเดียวกับในยามที่ได้รับความทุกข์ใบหน้าก็หมองหม่น หากยามใดมีความสุขใบหน้าก็สดใสด้วยรอยยิ้ม

(19) “ใช่…ชีวิตคลี่คลายเหมือนบทกวี เมื่อภายนอกเข้ามาสัมผัสคล้องจองกันภายใน” (หน้า 25)

บทกวีถูกกำหนดด้วยฉันทลักษณ์ที่จำกัดคำ ฉะนั้นการแต่งบทกวีให้ได้ดีต้องใช้ความพยายามอย่างมาก เพื่อสรรหาคำสัมผัสนอกไปวางลงให้เหมาะคำ เหมาะความ มีความไพเราะ และได้ความหมายที่ลึกซึ้ง และสามารถส่งสารถึงผู้รับสารอย่างสัมผัสใจด้วย ยิ่งเป็นบทกวีที่ดี เมื่อแต่งได้ตามที่ใจต้องการ ก็รู้สึกคลี่คลายจากความเคร่งเครียด เช่น เดียวกับหากการใช้ชีวิต เมื่อทุกอย่างลงตัว ก็เหมือนบทกวีที่มีสัมผัสคล้องจองได้งดงาม

(20) “ดวงตาที่ครั้งหนึ่ง เคยเปล่งประกายราวอัญมณี บัดนี้กลับหม่นแห้งปราศจากพลังชีวิต” (หน้า 34)

กล่าวคือ ดวงตาคือหน้าต่างของหัวใจ ดังนั้น เราอาจสังเกตพลังของสิ่งมีชีวิตได้จากดวงตา ในบริบทนี้ เสกสรรค์ได้เปรียบเทียบแววตาของสุนัข “ตูบ“ เมื่อครั้งยังวัยหนุ่มเป็นดวงตาที่สะท้อนพลังชีวิตอย่างมาก แต่เมื่อมันล้มป่วยด้วยโรคหลากชนิด ดวงตากลับหม่นหมองสิ้นไร้พลังแทบสิ้นเชิง นั่นก็คือดวงตาที่ทอดอาลัยมายังเขาก่อนมันจะเสียชีวิตด้วยยาฉีดประหาร

บุคลาธิษฐาน (Personification) หมายถึง การทำสิ่งที่ไม่ใช่คนให้มีความรู้สึกนึกคิดอย่างคน ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความรู้สึกประทับใจ มีอารมณ์สะเทือนใจ หรือให้ภาพงดงามเป็นภาษากวี มากกว่าการใช้ภาษาอย่างตรงไปตรงมา (สมเกียรติ รักษ์มณี, 2551: 79)

(21) “เหมือนกลางวันแอบมาเยี่ยมกลางคืน” (หน้า 191)

กล่าวคือ ความจริงของกลางวันกลางคืนที่แท้ได้รับแสงจากดวงอาทิตย์ แต่ความลี้ลับของจักรวาลก็ทำให้เราเข้าใจว่า ดวงจันทร์มีแสงในตัวเอง แต่เสกสรรค์กลับใช้ลีลาภาษาให้ความเรียงตรึงตราผู้ด้วยบรรยากาศบรรยากาศของกลางคืนที่สูงเทือกเขาสลับซับซ้อนว่าด้วยบุคลาธิษฐานอีกว่า “จันทร์เพ็ญลอยดวงขึ้นเหนือแนวป่าทางทิศตะวันออก พร้อมทั้งสาดลำแสงแจ่มจ้ามาตามช่องว่างระหว่างยอดไม้ ไม่นานผิวพื้นบริเวณลานกางเต็นท์ก็เริ่มเรืองสลัว ผิวน้ำในลำห้วยข้างล่างปรากฏประกาย ขณะเสี้ยวแสงเดือนลูบไล้ชะง่อนหิน” (หน้า 191)

(23) “เมื่อเมืองหลวงน้ำหนักเกิน” (หน้า 123)

ภาวะของการมีน้ำหนักที่มากเกินไปของสิ่งมีชีวิต จะแสดงออกด้วยร่างกายที่ใหญ่โต ขยายออกไปทั้งสองข้างของตัว ส่วนสิ่งไม่มีชีวิต เช่น รถบรรทุก ก็มีการกำหนดว่าสามารถบรรทุกได้หนักเพียงใด ที่จะเป็นการรักษาสภาพรถให้ใช้งานได้ยืนยาวนาน หากรถบรรทุกที่บรรทุกน้ำหนักเกินกำหนด นอกจากส่งผลต่อความเสื่อมสภาพก่อนกำหนดแล้ว ยังทำให้ถนนผุพังก่อนอายุด้วยเช่นกัน แต่โดยนัยของข้อความนี้ แม้จะสามารถมองเห็นรูปธรรม แต่เสกสรรค์ต้องการสื่อสารในเชิงนามธรรมมากกว่า กล่าวคือ กรุงเทพฯเป็นเมืองหลวงที่รวมศูนย์ทุกสิ่งทุกอย่าง หน่วยงานหลักๆ สำคัญๆ รวมศูนย์กันอยู่กรุงเทพฯ สถานศึกษา โรงงานอุตสาหกรรม ตลอดจนบรรดายาเสพติด และอบายมุขต่างๆ ส่งผลให้เป็นแหล่งรวมพลังอำนาจด้านมืดเอาไว้อย่างเต็มที่ ทุกอย่างในกรุงเทพกระตุ้นแรงขับที่เคลื่อนตัวด้วยโลภะ โทสะ โมหะ กรุงเทพฯจึงกลายเป็นแหล่งรวมของกิเลสตัณหา ภาพทั้งหมดนี้ เป็นโครงสร้างทางสังคมที่อยุติธรรม กรุงเทพฯจึงดึงดูดทรัพยากรที่มีคุณภาพจากชนบทเพื่อเพิ่มเสริมให้ตนแข็งแกร่ง ขณะที่ชนบทอ่อนแอและถดถอยลงตลอดมา “อำนาจรัฐที่รวมศูนย์ และเศรษฐกิจที่รวมทรัพย์ทำให้เมืองหลวงกรุงเทพฯเหมือนหัวรถจักรที่วิ่งไปตามลำพังโดยปราศจากขบวนผู้โดยสารผูกพ่วงไปด้วย กรุงเทพฯโตขึ้นไม่หยุดยั้ง ในขระที่ชนบทล่มสลายอย่างไม่หยุดยั้งเช่นกัน” (หน้า 129)

อุปลักษณ์ (Metaphor)
อุปลักษณ์ หมายถึง ถ้อยคำแสดงการเปรียบเทียบของสองสิ่ง สิ่งหนึ่งเป็นสิ่งที่ถูกเปรียบและอีกสิ่งเป็นแบบเปรียบ (ณัฐพร พานโพธิ์ทอง, 2556: 99) สิ่งที่ถูกเปรียบและแบบเปรียบนี้ Lakoff and Johnsan (1980) อธิบายว่า จะต้องเป็นสมาชิกคนละกลุ่มกัน เช่น ถ้อยคำอุปลักษณ์ “เวลาเป็นเงินเป็นทอง” ที่นำ “เงิน” และ “ทอง” ซึ่งหมายถึงโลหะมีค่ามาเป็นแบบเปรียบเพื่อเปรียบเทียบกับสิ่งที่ถูกเปรียบ คือ “เวลา” ซึ่งหมายถึง ชั่วขณะของความยาวที่มีอยู่หรือเป็นอยู่ (ราชบัณฑิตยสถาน, 2546: 1086) ดังนั้น อุปลักษณ์จึงเป็นการกล่าวถึงปฏิสัมพันธ์บางประการระหว่าง 2 สิ่ง โดยอาจจะถ่ายทอดผ่านคำคำเดียวหรือวลีเพียงวลีเดียว
นอกจากนี้ ณัฐพร พานโพธิ์ทอง (2556: 99) ได้กล่าวว่า อุปลักษณ์เป็นการแนะความหมายแบบหนึ่งเนื่องจากผู้ใช้อุปลักษณ์มิได้หมายความตามรูปและผู้รับสารก็ต้อง “ตีความหมาย” ที่ผู้ใช้อุปลักษณ์ต้องการสื่อออกมา แต่ประเด็นสำคัญที่นักวัจนปฏิบัติศาสตร์และนักวาทกรรมวิเคราะห์เชิงพิพากษ์สนใจก็คือ หน้าที่ในด้านการถ่ายทอดความคิด และพลังในการโน้มน้าวใจของอุปลักษณ์ นักวิชาการทั้งสองสาขากล่าวตรงกันว่า อุปลักษณ์สามารถเปลี่ยนมุมมองผู้รับสาร รวมถึงสื่ออุดมการณ์ด้วย ตัวอย่าง การใช้ อุปลักษณ์ ได้แก่

“บนทางเดินของชีวิต คนเราล้วนเป็นภูมิประเทศของกันและกัน…ใช่หรือไม่ว่าบางคน ถึงกับเป็นภูมิประเทศอันยากกันดารยิ่ง” (หน้า 101)

น่าสังเกตว่า เหตุใดเสกสรรค์เปรียบคนเป็นภูมิประเทศ เมื่อพิจารณา ภูมิประเทศอันหมายลักษณะทางกายภาพและทางธรรมชาติของแผ่นดิน รวมถึงความสูงตํ่าของพื้นผิวโลก ทะเลสาบ ถนนหนทาง ต่างๆ หากเราต้องเดินทางไปในภูมิประเทศต่างๆ บ้างมีหลุมมีบ่อ บ้างราบเรียบ บ้านอุดมสมบูรณ์ บ้างทุรกันดาร จะเห็นได้ว่า เราก็จะได้รับความสะดวกสบาย หรือลำบากแตกต่างกัน เมื่อมาพิจารณารูปลักษณ์ของ “คน” ก็พบว่ามีลักษณะที่แตกต่างกันเช่นเดียวกับภูมิประเทศ มีสูงต่ำดำขาว มีลักษณะนิสัยที่แตกต่างกัน ในเรื่อง “ภูมิประเทศอันยากยิ่ง” เมื่อเสกสรรค์ได้พบบุคคลหนึ่งซึ่งมีนิสัยไม่พึงประสงค์อย่างยิ่ง เพราะเป็นบุคคลที่คอยรบกวนความสงบสุขของเขา และพยายามยัดเยียดกิจกรรมบางอย่างที่ไม่อยากทำ ถึงขั้นคิดจะหยุดชายคนดังกล่าวด้วยกำลัง แต่เหตุการณ์กลับคลี่คลายโดยที่เขาไม่ต้องทำอย่างที่คิด ภาวะที่เผชิญกับมนุษย์ดังกล่าว เสกสรรค์ได้เปรียบว่าเป็นผู้ “ป่วยด้วยโรคท้องร่วงทางปาก” (หน้า 101) กลายเป็นบุคคลที่เปรียบกับภูมิประเทศอันทุรกันดาร ซึ่งอาจหมายความกันดารคุณสมบัติของสิ่งที่มนุษย์ธรรมดาพึงมี น่าก็คือ มารยาทพื้นฐานของมนุษย์

“บทสำรวจพื้นที่ว่าง ณ ใจกลางป่าอารมณ์” (คำขยายชื่อเรื่อง)

ในทางรูปธรรม การสำรวจพื้นที่ เช่น ที่ดิน ที่ป่า เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ แต่การสำรวจพื้นที่ว่าง “ณ ใจกลางป่าอารมณ์” คือสิ่งใด เสกสรรค์กล่าวถึงสำรวจ ค้นหา สิ่งที่เป็นภาวะภายใน กล่าวคือ จิตมนุษย์มักไปผูกติดกับเรื่องต่างๆ พลิ้วไหวไปตามเงื่อนไขภายนอก ซึ่งเย้ายวนชวนลุ่มหลง โดยมีแรงขับทางกายภาพเป็นพลังให้เลื่อนไหลไปกับความเย้ายวนนั้น จิตที่แส่ส่ายหมกมุ่นกับความรู้สึกต่างๆ ก็เหมือนกับจิตนั้น เดินทางท่องเที่ยวไปยังภูมิสถานซึ่งหลากหลายภูมิประเทศ ราวกับจิตที่หลงอยู่ในอุทยานที่กว้างใหญ่ไพศาล หากปล่อยจิตไปลุ่มหลงกับสิ่งดังกล่าว ก็ยากที่จะถอนตัวออกจากการผูกพันยึดเกาะนั้น
ชื่อเล่มของความเรียงนี้ จึงมุ่งเน้นนำเสนอ ภาวะของการเฝ้าดูจิตของตัวเองเป็นหลัก ทั้งพยายามฝึกตนเองเอง ทั้งความกระเสือกกระสนที่จะถอนตัวออกมา ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากยิ่ง นัยของเหตุผลทั้งหลายที่กล่าวมาก็คือ มุ่งหมายเพื่อจะนำพาที่จิตที่ติดผูกโยงยึดกับอุปาทานทั้งหลายนั้นกลับสู่จิตเดิม คือความไม่มีอะไร ความว่าง นั่นหมายถึง ความสงบ นั่นเอง
จะเห็นได้ว่า การใช้อุปลักษณ์ ดังตัวอย่างดังกล่าว เป็นเรื่องของมโนทัศน์การเปรียบสิ่งสองสิ่งซึ่งอยู่ต่างประเภทกัน แต่เมื่อนำมาเปรียบเทียบกันแล้ว ก่อให้เกิดความหมายด้วยการตีความ กลวิธีทางภาษาดังกล่าวนี้ มีพลังในการโน้มน้าวใจผู้รับสาร

คำถามเชิงวาทศิลป์ (Rhetorical Question)
คำถามเชิงวาทศิลป์ หมายถึง คำถามที่ไม่ต้องการคำตอบ แต่เว้นที่ว่างให้ผู้อ่านได้คิดหาคำตอบเอง และผู้เขียนก็คาดหวังให้ผู้อ่านคิดตอบให้ได้อย่างถูกต้องตรงกับผู้เขียนต้องการ (Fowler, 1991: 40) พจนานุกรมศัพท์วรรณกรรมของกระทรวงศึกษาธิการ (ทองสุก เกตุโรจน์, 2538: 298-299) กล่าวถึงหน้าที่ในการสื่อสารของคำถามเชิงวาทศิลป์ว่า คำถามเชิงวาทศิลป์นั้น “ประโยคคำถามที่มิได้ต้องการคำตอบอย่างแท้จริง แต่ต้องการให้ข้อความที่พูดมีน้ำหนักยิ่งกว่าที่จะเป็นประโยคบอกเล่าตรงๆ โดยชักชวนผู้ฟังให้คำตอบซึ่งผู้พูดเชื่อว่า เป็นที่กระจ่างชัดอยู่แล้ว” ส่วน ชนกพร พัวพัฒนกุล (2548: 93) กล่าวว่า การใช้คำถามเชิงวาทศิลป์นั้นเป็นกลวิธีหนึ่งที่ช่วยให้ผู้เขียนไม่ต้องแสดงความเห็นของตนเองออกมาตรงๆ แต่ใช้วิธีการตั้งคำถามพร้อมทั้งแสดงเหตุผลสนับสนุนเพื่อนำผู้อ่านไปสู่คำตอบที่ผู้เขียนต้องการ ตัวอย่างการใช้คำถามเชิงวาทศิลป์ ได้แก่

…ใช่หรือไม่ชีวิตคลี่คลายเหมือนบทกวี เมื่อสิ่งภายนอกเข้ามาสัมผัสคล้องจองกับสิ่งที่อยู่ภายใน
(หน้า 25)

…ใช่หรือไม่ชีวิตที่หมุนวนอยู่ในกรอบสมมุติมักจะลงเอยด้วยความผิดหวัง เจ็บปวด เหงา และ
เศร้าอยู่ร่ำไป” (หน้า 147)

จะเห็นได้ว่า การใช้คำถามเชิงวาทศิลป์ จากตัวอย่างข้างต้น เป็นชักชวนผู้อ่านคิด แม้สิ่งที่ตั้งคำถามนั้น ผู้อ่านจะรู้อยู่แล้ว แต่กลวิธีทางภาษาจะนำพาผู้อ่านไปสู่การคิดใคร่ครวญกับสารนั้นอีกครั้ง

การซ้ำกระสวนประโยค (Repeating Pattern)
การซ้ำกระสวนประโยค คือ การนำประโยคที่มีโครงสร้างคล้ายคลึงกัน 2 ประโยคหรือมากกว่านั้นมาลำดับต่อเนื่องกัน การซ้ำประโยคลักษณะนี้เป็นการให้ข้อมูลบางประการในประโยคซ้ำเดิม ขณะเดียวกันก็มีการให้ข้อมูลใหม่บางประการที่แตกต่างออกไปแก่ผู้อ่านด้วย การซ้ำกระสวนประโยคจึงเป็นกลวิธีทางภาษาที่ทั้งสามารถตอกย้ำและเปรียบเทียบภาพหรือความคิดบางประการ ที่ตัวบทต้องสื่อไปยังผู้อ่านไว้ในคราวเดียวกัน นอกจากนี้การซ้ำกระสวนประโยค ยังเป็นการทำให้ข้อมูลเก่าที่ถูกกล่าวซ้ำและข้อมูลใหม่ในประโยคเด่นชัดขึ้น จนเป็นที่สะดุดตาแก่ผู้อ่าน ด้วยเหตุนี้ การซ้ำกระสวนประโยคจึงเป็นกลวิธีทางภาษาที่ทำให้ตัวบทสามารถสื่ออุดมการณ์ไปยังผู้อ่านได้อย่างมีประสิทธิภาพ (โชษิตา มณีใส, 2553: 145) ตัวอย่าง การซ้ำกระสวนประโยค ได้แก่

“เงินทองที่มีมากเกินอาจนำมาซึ่งความทุกข์ ปริญญาหลายใบไม่ได้หมายถึงความรู้ที่มากกว่าคนอื่น อีกทั้งผู้คนที่ไร้ยศไร้ศักดิ์ อาจจะมีคุณสมบัติทางจิตใจสูงกว่าผู้มีฐานะทางสังคมก็ได้” (หน้า 145)

“ผู้คนทะเลาะเบาะแว้งกันเพราะเรื่องนี้ เกลียดชังกันเพราเรื่องนี้ กระทั่งรบราฆ่าฟันกันก็เพราะเรื่องนี้” (หน้า 145)

“คนจนล้นตลาด กรรมกรนับล้านอ่านหนังสือไม่ออก ชุมชนท้องถิ่นถูกทำลายย่อยยับ ทรัพยากรทุกอย่างอยู่ในมือคนส่วนน้อย การศึกษาล้มเหลวกันทั้งระบบ ช่องว่างระหว่างรายได้ถ่างกว้าง ประชาชนส่วนใหญ่ไร้อำนาจต่อรอง” (หน้า 159)

จะเห็นได้ว่า ข้อความตัวอย่างข้างต้น จะเห็นกลวิธีทางภาษาที่ทั้งสามารถตอกย้ำและเปรียบเทียบภาพหรือความคิดบางประการ ที่ตัวบทต้องสื่อไปยังผู้อ่านไว้ในคราวเดียวกัน นอกจากนี้การซ้ำกระสวนประโยค ยังเป็นการทำให้ข้อมูลเก่าที่ถูกกล่าวซ้ำและข้อมูลใหม่ในประโยคเด่นชัดขึ้น จนเป็นที่สะดุดตาแก่ผู้อ่าน ด้วยเหตุนี้ การซ้ำกระสวนประโยคจึงเป็นกลวิธีทางภาษาที่ทำให้ตัวบทสามารถสื่ออุดมการณ์ไปยังผู้อ่านได้อย่างมีประสิทธิภาพ

วิเคราะห์ทัศนะของผู้แต่ง
พิจารณาถึง “หัวใจที่กลับบ้าน” อันมีแก่นคิดสำคัญคือ “บ้าน” มีนัยที่อาจวิเคราะห์ในด้านน้ำเสียงหรือความคิดเห็นที่สะท้อนผ่านความเรียงทั้ง 18 หัวข้อนี้ อาจประมวลได้ 4 ประการ ดังต่อไปนี้
๑. บ้านในฐานะองค์ประกอบและหน้าที่ของสมาชิกในบ้าน การหวนคืนยังจิตเดิมเพื่อรักษาไว้ซึ่งองค์ประกอบของ “บ้าน” และหน้าที่ของผู้เป็นองค์ประกอบในบ้าน กล่าวคือ ในเรื่อง “สายน้ำไม่หวนกลับ” (หน้า 103-112) เสกสรรค์ได้พาพี่ชาย พี่สาว เดินทางไปเที่ยวประเทศพม่า โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อ “เป็นห้วงยามที่พี่น้องคลานตามกันมาจะได้แบ่งปันวัยชราให้กัน” (หน้า 103) ระหว่างเสกสรรค์กับครอบครัว มีจุดเจ็บ เกิดขึ้นหลายประการที่เขาสมนึกว่า เขาทำผิดกับครอบครัว เช่น แม่ตายขณะเป็นทหารป่า ไม่มีโอกาสมากรอบศพ พี่ชายของเขาสอบได้ทุนไปศึกษาต่างประเทศแต่แม่ไม่อนุญาต เพราะไม่ต้องการให้ลูกชายต้องหายตัวไปแบบเขาอีกคน และความสำนึกนี้ จึงอยากใช้ชีวิตร่วมกับพี่น้องร่วมท้องเดียวกัน และที่ลึกลงไปมากกว่านั้น เขาคิดถึงแม่ด้วยความรู้สึกผิดที่ไม่มีโอกาสได้ดูแลแม่เลย ในรุ่งเช้าวันหนึ่ง เขามองเห็นภาพชายชราวัยต้นๆ เข็นหญิงชราในวีลแชร์ ความสำนึกผิดที่ทำต่อแม่ เขาปรารถนาให้ภาพนั้นเป็นภาพของเขากับแม่ ข้อความต่อไปนี้ สะท้อนองค์ประกอบและหน้าที่ของสมาชิกในบ้าน “ทว่าอีกวูบหนึ่งของความปรารถนา เขาอดรู้สึกไม่ได้ว่าคนเข็นวีลแชร์คันนั้นน่าจะเป็นตัวของเขา และผู้ที่นั่งชมยามเช้าคือแม่ที่ยังไม่จากไป” (หน้า 112)
๒. บ้านที่เหลื่อมล้ำไร้ความเท่าเทียม เราอยู่บ้านหลังเดียวกันเหตุใดเราจึงไม่เท่ากัน ความเรียงไม่น้อยกว่า ๔ เรื่อง ที่มุ่งเน้นสื่อสารเรื่องความไม่เท่าเทียม หรือเหลื่อมล้ำของคนในประเทศ กล่าวคือ เราอยู่ในบ้านที่มีชนชั้นนำ หรือนักการเมืองที่เป็นตัวแทนมักอ้างนโยบาย หรือแสดงวาทกรรมโดยอ้างคนส่วนใหญ่ เช่น จะทำเพื่อเป้าหมายที่สูงส่ง อ้างประชาธิปไตยที่แท้ อ้างผลประโยชน์ส่วนรวม ตลอดจนห่วงใจสวัสดิภาพและสวัสดิการของประชาชน แต่ที่แท้แล้ว สิ่งที่ยกอ้างนี้ เป็นเพียงวาทกรรม เป็นการกระทำทางคำพูด ไม่มีการนำไปปฏิบัติจริง ชนชั้นนำจึงยังคงมั่งคั่ง มั่นคง แต่ประชาชนทรุดโทรมลงไปเรื่อยๆ ทรัพย์สินเงินทองครึ่งหนึ่งของจีดีพีเป็นของคนไม่กี่นามสกุล ขณะผู้คนส่วนใหญ่ยังยากลำบาก โครงสร้างทางสังคมที่อยุติธรรม ใช่หรือไม่ ที่กรุงเทพฯดูดดึงทุกสิ่งทุกอย่างจากภูมิภาค คนที่เก่ง คนดี มีความสามารถในชนบท กรุงเทพฯ ดูดดึงไปหมด ไปทำให้กรุงเทพฯ แข็งแรง และนับวันความเจริญทางเทคโนโลยีของกรุงเทพฯ ก็เจริญรุดหน้าไปมาก ในขณะเดียวกันชนบทหรือภูมิภาคก็อ่อนแอและล่มสลายไปมหาศาล จริงหรือไม่ที่เรามีการปกครองที่หลักการนั้นยกย่องให้ประชาชนเป็นใหญ่ แต่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เคยได้ใช้อำนาจของตนเองเลย ในประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงสุดในโลก บ้านที่ไร้ความเป็นธรรม
๓. การมีบ้านในลักษณะนามธรรม การมีบ้านในลักษณะนามธรรม หมายถึง บ้านที่ไม่ใช่ตัวบ้าน หากแต่เป็นบ้าน คือที่ที่มีคนที่อาทรเขา และเขาอาทรคนเหล่านั้น กล่าวคือ เสกสรรค์ใช้เวลาเรียนระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 8 ปี เป็นอาจารย์อีก 20 ปี 1 จึงมีเครือข่ายสายใยสัมพันธ์ระหว่างตนกับคนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สถานที่อยู่ ณ บ้านเกิดของเสกสรรค์อยู่ริมน้ำ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็ตั้งอยู่ริมน้ำ ทั้งสองแห่งนี้สอดคล้องกันโดยบังเอิญ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงเห็นเหมือนบ้าน เนื่องจาก เป็นสถานที่ที่เขารักและมีคนที่อาทรร้อนใจทุกข์สุขของเขาอย่างแท้จริง (ความรู้สึกที่เป็นหนึ่งเดียวกับพื้นที่ ห้วงยาม (ที่ยัง) มีอยู่ของตัวตน แม้แต่พื้นที่ที่เคยสังกัดเป็นทหารป่า ภูหินร่องกล้า ก็รู้สึกว่า นั่นคือบ้าน “ใช่หรือไม่ว่า…เสียงขลุ่ยมาจากลมหายใจ เลาไผ่มิใช่เจ้าของเพลง ท่วงทำนองที่บรรเลงยังถูกสั่งจากจิตวิญญาณ” (หน้า 51)
๔. บ้านในฐานะความสงบ สิ่งที่เป็นแก่นสารในภาพรวมของความเรียงชุด “วันที่หัวใจกลับบ้าน” คือ การเสนอภาพให้เห็นสภาวะจิตของคนเราที่ออกไปแส่ส่ายโลกแล่นอยู่กับปรากฏการณ์ภายนอก ไม่เพียงนำความทุกข์ร้อนมาให้ หากยังทำให้สายตาที่เราใช้มองโลกพร่ามัวไปตามอคติ หรือฉันทาคติด้วย กระทั่งนำไปสู่การหมุนวนกับเรื่องสมมุติทั้งหลาย เราจึงเห็นสภาพของความพยายามไล่ต้อนจิตตัวเองให้กลับบ้านเป็นระยะๆ โดยการกระทำดังกล่าว เมื่อกลายเป็นปกติวิสัย คือการเฝ้าดูความรู้สึกนึกคิดและการกระทำของตนของผู้อื่น ซึ่งทำให้สามารถมองตัวเองได้ชัดเจนขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้เราเพียรพยายามจะข้ามพ้นจากสภาพนั้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดได้ง่าย การต่อสู้ระหว่างสิ่งที่เราติดยึดมานานกับความพยายามที่ปลดพันธนาการ จะยังคงถูกดึงรั้งมิให้พบความสุขได้โดยง่าย ทั้งนี้ เพราะมนุษย์ตั้งต้นเดินออกจากจิตเดิมแท้มานานแสนนาน การจะชักนำจิตกลับคืนสู่ความสงบได้ จึงต้องใช้ความกล้าหาญจริงจังอย่างยิ่งยวด

บทสรุป
ความเรียงชุด “วันที่หัวใจกลับบ้าน” มีความดีเด่นในการนำเสนอแก่นความคิดเกี่ยวกับการแสวงหาทางจิตวิญญาณสู่ความสงบ ทั้งยังมีความดีเด่นในด้านการใช้ภาษาวรรณศิลป์ที่มีประสิทธิภาพ หากพิจารณาความเรียงชุดนี้ในเชิงคุณค่า อาจกล่าวได้ว่า เป็นงานเขียนที่สื่อสารและโน้มน้าวให้ผู้อ่านได้ตระหนักรู้ว่า การปล่อยให้จิตของเราแส่ส่ายไปกับความเย้ายวนทั้งหลายนั้น มีแต่จะนำความทุกข์เทวษสู่เราไม่จบสิ้น มนุษย์จึงควรที่จะหันกลับมาสำรวจตรวจสอบจิตของตน เฝ้าระวังมิให้ความหลงผิดมาหน่วงเหนี่ยวดึงรั้งให้จิตไปติดกับดักเพิ่มขึ้นจนยากจะถอนตัวออกมา ทั้งต้องเพียรฝึกฝนตนเองอย่างที่สุดเพื่อ “ตัดเบรก” “บั่นสลาย” ให้ความติดยึดทั้งหลายนั้น ลดความตึงเครียดลง กระทั่งสามารถนำพาจิตกลับบ้านและนำไปสู่ความสงบในสุด ความเรียงเล่มนี้ จึงมิใช่เพียงสารคดีธรรมดาที่เพียงจะสื่อสารเรื่องราวแบบตื้นเขิน หากเป็นเครื่องมือทางปัญญาที่พาผู้คนผู้ปรารถนาความสงบและความอิสระไปสู่จุดหมายที่พึงประสงค์ได้

รายการอ้างอิง

สมเกียรติ รักษ์มณี. (2551). ภาษาวรรณศิลป์. กรุงเทพฯ: สายน้ำใจ.
เสกสรรค์ ประเสริฐกุล. (2554). วันที่หัวใจกลับบ้าน: บทสำรวจพื้นที่ว่าง ณ ใจกลางป่าอารมณ์.
กรุงเทพฯ: สามัญชน.
โชษิตา มณีใส. (2553). การใช้ภาษาเพื่อประสิทธิผล. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
ชนกพร พัวพัฒนกุล. (2548). อุดมทรรศน์เกี่ยวกับ “เขมร” ในปริเฉทหนังสือพิมพ์ไทย: กรณีเหตุจลาจลเผาสถานทูตไทยในกัมพูชา พ.ศ. 2546. วิทยานิพนธ์อักษรศาสตร มหาบัณฑิต, สาขาวิชาภาษาไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ทองสุก เกตุโรจน์. (2538). อธิบายศัพท์วรรณคดี. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว. แปลจาก Abrams, M.H. 1986. A Glossary of Literature Terms. Orlando: Hardcourt, Branc, and Company.
ณัฐพร พานโพธิ์ทอง. (2556). วาทกรรมวิเคราะห์เชิงวิพากษ์ตามแนวภาษาศาสตร์: แนวคิดและการนำมาศึกษาวาทกรรมในภาษาไทย. กรุงเทพฯ: โครงการเผยแพร่ผลงานวิชาการ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
Fowler, R. (1991). Language in the new: discourse and ideology in the British press. London: Routledge.
Lakoff, G. and M. Johnsan. (1980). Metophor we like by. Chicago; London: The University of Chicago Press.ฟ

 

ความคิดเห็น