การเขียนบทความ

เนื้อหาในเรื่องการเขียนบทความนี้เรียกได้ว่ามีความสำคัญกับการทำเว็บไซต์อย่างมาก คนที่มีหน้าที่จัดทำเนื้อหาให้เว็บไซต์จะต้องมีความสามารถในการถ่ายทอดข้อความ เพื่อให้สาระ แจ้งข้อเท็จจริง แสดงความคิดเห็น หรือถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ ออกมาเป็นงานเขียนในรูปของ “บทความ” ให้ได้ ผู้ที่คิดว่าตัวเองเขียนบทความไม่เป็น หรือเขียนออกมาได้ยังไม่ดีนัก ขาดความมั่นใจในการเขียน หากได้เรียนรู้หลักการและแนวทางการเขียนบทความ จากนั้นทดลองเขียน และปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องอยู่เสมอ เชื่อว่าเราจะเขียนบทความได้ดีขึ้นอย่างแน่นอน

เรามาเริ่มเรียนรู้เกี่ยวกับการเขียนบทความกันเลยค่ะ

(บทความในที่นี้หมายถึงพวกบทความทั่วไป ไม่ใช่บทความวิชาการนะคะ)

ส่วนประกอบในบทความ

ส่วนประกอบในการเขียนบทความที่สำคัญ ได้แก่ บทนำ เนื้อหาของเรื่อง และบทสรุป นอกจากนี้อาจจะนับรวม ชื่อเรื่อง และส่วนอ้างอิง เข้าไปด้วย ซึ่งส่วนประกอบแต่ละส่วนมีหน้าที่ของมันอยู่ค่ะ

  1. ชื่อเรื่อง

ชื่อเรื่องเป็นจุดแรกที่ผู้อ่านเห็น ดังนั้นต้องตั้งชื่อเรื่องให้น่าสนใจให้น่าอ่านที่สุด ถ้าชื่อเรื่องไม่มีพลังดึงดูดพอ ผู้อ่านอาจจะไม่ (คลิก) เข้าไปหน้าเนื้อหาของบทความ หรือปิดหน้าบทความไป

ชื่อเรื่องที่ดีควรจะบอกประเด็นหลักของเรื่องและเหมาะสมกับเนื้อเรื่อง ถ้าเนื้อหาในเรื่องไม่ตรงกับชื่อเรื่อง หรือไม่น่าสนใจเหมือนชื่อเรื่อง คนอ่านก็อาจจะรู้สึกเหมือนโดนหลอกได้ สำหรับการตั้งชื่อเรื่องจะตั้งก่อนจะเขียนเนื้อหา หรือตั้งหลังจากเขียนเนื้อหาของเรื่องเสร็จแล้วก็ได้ค่ะ

  1. บทนำ

บทนำเป็นส่วนที่อยู่ในตอนต้นของบทความ (ย่อหน้าแรกๆ) บอกให้ผู้อ่านทราบคร่าวๆ ว่าบทความนี้เขียนเกี่ยวกับเรื่องอะไร ส่วนนี้มักจะเป็นการอธิบายความหมายและความสำคัญของชื่อเรื่อง หรือบอกเล่าว่าเรื่องนี้น่าสนใจอย่างไร ให้ประโยชน์อะไร ช่วยผู้อ่านได้อย่างไร บอกสภาพปัญหา หรือขอบข่ายเนื้อหา เป็นต้น

บทนำเป็นส่วนที่จะต้องเขียนให้น่าอ่านชวนติดตาม เพราะผู้อ่านมักจะลองอ่านบทนำดูก่อน ถ้าบทนำดีจะจูงใจผู้อ่านให้อยากติดตามเนื้อเรื่องต่อไปจนจบ

  1. เนื้อหาของเรื่อง

เป็นส่วนที่อธิบายเรื่องที่เขียนแบบละเอียด มีการแบ่งเนื้อหาออกเป็นหลายหัวข้อตามความเหมาะสม

  1. บทสรุป

เป็นส่วนที่อยู่ท้ายสุดของเรื่อง โดยจะสรุปสาระสำคัญของเรื่อง

  1. อ้างอิง (ถ้ามี)

เป็นส่วนที่อยู่ท้ายบทความ จะบอกรายชื่อหนังสือ สิ่งพิมพ์ บทความวารสาร บทความหนังสือพิมพ์ หน้าเว็บเอกสาร  รวมทั้งสื่อบันทึกเสียง และสื่อบันทึกวีดีโอต่างๆ ที่เรานำมาใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงในการเขียน

 

หากในเนื้อเรื่องมีการนำข้อความ แนวคิด รูปภาพ ตาราง แผนภูมิสถิติใดมาจากที่อื่น ควรระบุแหล่งที่มาของข้อมูลนั้นด้วย การอ้างอิงจะช่วยเสริมให้เรื่องที่เราเขียนน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น และถือเป็นการให้เกียรติแก่เจ้าของผลงานด้วยค่ะ

 

ขั้นตอนในการเขียนบทความ

  1. กำหนดเรื่องที่จะเขียน ว่าจะเขียนเรื่องอะไร

ถ้าเราสามารถเลือกเรื่องที่จะเขียนได้เอง การเลือกเรื่องที่เรามีความสนใจ มีความรู้ มีประสบการณ์ในเรื่องนั้นๆ อยู่แล้ว ก็จะมีส่วนช่วยให้เราเขียนถ่ายทอดออกมาได้ง่ายและลื่นไหล และยิ่งเลือกเรื่องที่กำลังเป็นที่สนใจของคนทั่วไป เรื่องนั้นมีแนวโน้มที่จะมีคนสนใจอ่านเป็นจำนวนมาก

  1. กำหนดจุดมุ่งหมายให้ชัดเจน ว่าเขียนเพื่ออะไร

เช่น เพื่อให้ข่าวสาร เพื่อให้ความรู้ เพื่อแสดงความคิดเห็น เพื่อการโน้มน้าวใจ เพื่อความบันเทิง เพื่อให้แนวคิดในการดำเนินชีวิต เป็นต้น

  1. กำหนดกลุ่มผู้อ่านเป้าหมาย ว่าเขียนให้ใครอ่าน

เราต้องคำนึงถึงอายุ เพศ การศึกษา อาชีพ ความรู้ ของผู้อ่านด้วย เนื่องจากลักษณะและคุณสมบัติของผู้อ่านจะมีผลต่อเนื้อหาที่เราจะเขียน ตลอดจนเรื่องของการใช้ภาษา ถ้อยคำ และคำศัพท์ต่างๆ

ยกตัวอย่าง เนื้อหาในบทความต่อไปนี้ที่เขียนเพื่อแนะนำให้ผู้อ่านรู้จักกับโปรแกรมสำเร็จรูป WordPress

ถ้ากลุ่มเป้าหมาย คือ บุคคลทั่วไปที่มีความสนใจอยากลองสร้างเว็บไซต์ด้วยตัวเอง เวลาเขียนบทความควรใช้ภาษาง่ายๆ  ให้ข้อมูลความรู้พื้นฐาน และถ้ามีการใช้คำศัพท์ก็ควรอธิบายความหมายประกอบด้วย

WordPress เป็นโปรแกรมสร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปตัวหนึ่งที่มีผู้นิยมใช้งานจำนวนมาก เนื่องจาก WordPress ถูกออกแบบมาให้ใช้งานได้ง่าย ตั้งแต่การติดตั้ง การปรับตั้งค่าตกแต่งส่วนต่างๆ และการจัดการดูแลเนื้อหาภายในเว็บไซต์ โดยผู้ใช้งานไม่จำเป็นต้องมีความรู้ในการเขียนโปรแกรมเลยก็ได้ นอกจากนี้ WordPress ยังสนับสนุนการทำ SEO (Search Engine Optimization) เป็นอย่างดี ซึ่งจะทำให้เว็บไซต์ของเรามีโอกาสสูงขึ้นในการติดอันดับต้นๆ ในผลการค้นหาของ Search Engine อย่าง google.com หรือ bing.com

 

ส่วนถ้ากลุ่มเป้าหมาย คือ คนในแวดวงการทำเว็บไซต์ หรือนักพัฒนาเว็บไซต์ เราสามารถที่จะใช้คำศัพท์เฉพาะที่รู้จักกันดีในแวดวงการได้เลย และบางเรื่องก็ไม่จำเป็นต้องอธิบายยืดยาว

WordPress เป็น Web CMS (Web Content Management System) ตัวหนึ่งที่มีผู้นิยมใช้งานจำนวนมาก เนื่องจากความง่ายในการติดตั้ง และการใช้งาน อีกทั้งยังสนับสนุนการทำ SEO เป็นอย่างดี

  1. เตรียมข้อมูลที่จะใช้ในงานเขียนให้เพียงพอ

ก่อนจะลงมือเขียนจำเป็นต้องประมวลความรู้ที่เรามี ตลอดจนหลักฐาน ข้อเท็จจริง ที่จำเป็นต้องใช้ในงานเขียน หากมีไม่เพียงพอ สามารถหาเพิ่มเติมได้โดยการค้นคว้าข้อมูลจากแหล่งความรู้ต่างๆ ตลอดจนการสัมภาษณ์ผู้รู้หรือผู้เกี่ยวข้อง การสังเกต การทำแบบสอบถาม เป็นต้น และที่สำคัญข้อมูลที่เราจะนำไปใช้นั้นจะต้องเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง เชื่อถือได้

  1. วางโครงเรื่อง กำหนดแนวทางการเขียนว่าจะนำเสนออะไรบ้าง

ในตอนเริ่มต้นเราอาจจะยังไม่รู้ว่าจะเขียนเนื้อหาอะไรลงไปในบทความ โครงเรื่องจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ความคิดของเราแจ่มชัดขึ้น

การวางโครงเรื่อง เป็นการกำหนดขอบข่ายของเรื่อง และจัดลำดับเนื้อหาความคิดหรือหัวข้อเรื่องที่เราจะเขียนให้ชัดเจนก่อนลงมือเขียนจริง

โดยเมื่อวางโครงเรื่องแล้ว จะช่วยให้เราทราบถึงเนื้อหาทั้งหมดที่จะต้องเขียนว่ามีหัวข้ออะไรบ้าง จะได้วางสัดส่วนของเนื้อหาแต่ละหัวข้อให้เหมาะสม ไม่เขียนหัวข้อหนึ่งหัวข้อใดยาวเกินไป และเราจะเขียนเนื้อหาได้ครบถ้วนทุกหัวข้อ ไม่หลงลืมเขียนบางหัวข้อไป ไม่เขียนออกนอกเรื่อง และไม่เขียนเนื้อเรื่องซ้ำซ้อน

โครงเรื่องยังมีประโยชน์ทำให้มองเห็นว่ามีเนื้อหาหรือประเด็นใดบ้างที่เรายังไม่มีข้อมูล หรือยังไม่รู้ดีพอ จะได้เตรียมข้อมูลเพิ่มเติม นอกจากนี้โครงเรื่องยังช่วยให้มองเห็นลำดับเนื้อหาของเรื่องที่สอดคล้องเกี่ยวเนื่องกันได้ชัดเจน ทำให้เราเรียบเรียงเนื้อหาได้สะดวกขึ้น ไม่สับสนจนเขียนเนื้อเรื่องวกวน

การเขียนโครงเรื่องมีขั้นตอน ดังนี้

รวบรวมความคิดเกี่ยวกับเรื่องที่เราจะเขียน แล้วเขียนรายการความคิด หรือประเด็นสำคัญที่เราจะใส่ในบทความ ว่ามีอะไรบ้าง เป็นข้อความสั้นๆ เขียนเป็นข้อๆ

นำรายการความคิดจากข้อแรกมาพิจาณา ตัดรายการที่ไม่สนับสนุนจุดมุ่งหมายและอยู่นอกขอบข่ายของเรื่องออกไป

จัดหมวดหมู่หรือแยกประเภทความคิดเป็นหัวข้อใหญ่ และหัวข้อย่อยต่างๆ โดยรายการที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันอยู่รวมกันได้ ก็นำมาจัดไว้เป็นพวกเดียวกัน

จัดลำดับความคิด โดยเรียงลำดับว่าหัวข้อใดควรอยู่ก่อน หัวข้อใดควรอยู่หลัง เพื่อให้เนื้อหาต่อเนื่องสัมพันธ์กัน อ่านเข้าใจง่าย และติดตามเรื่องราวได้โดยไม่สับสน

เขียนเป็นตัวโครงเรื่องจริงๆ จัดลำดับหัวข้อใหญ่และหัวข้อย่อยให้เป็นระเบียบ

ตรวจทานโครงเรื่องให้ดี ถ้าพบว่ายังมีจุดบกพร่องส่วนไหนให้แก้ไขก่อน ถ้าเราวางโครงเรื่องไม่ดี บทความที่เขียนออกมาก็จะไม่ดีเช่นกันค่ะ โดยโครงเรื่องที่ดีจะต้อง…

– ไม่ให้มีหัวข้อที่ไม่อยู่ในขอบข่ายของเรื่อง

– หัวข้อที่เป็นหัวข้อหลักแต่ละข้อควรมีความสำคัญเท่ากันหรือใกล้เคียงกัน ไม่นำหัวข้อย่อยมาเป็นหัวข้อหลัก ไม่เช่นนั้นเนื้อเรื่องจะขาดความสมส่วน

– หัวข้อใหญ่แต่ละข้อจะต้องมีเนื้อหาแตกต่างกัน หากมีส่วนซ้ำซ้อนกัน เมื่อขยายความจะทำให้เรื่องวกวนเข้าใจยาก

– ลำดับความสัมพันธ์ของหัวข้อต่างๆ เชื่อมโยงกันเป็นอย่างดีแล้ว

ตัวอย่างโครงเรื่อง เรื่อง ภาวะโลกร้อน

  1. ความหมายของภาวะโลกร้อน
  2. สาเหตุของการเกิดภาวะโลกร้อน
  3. ผลกระทบจากภาวะโลกร้อน

    3.1 ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม

    3.2 ผลกระทบด้านเศรษฐกิจ

    3.3 ผลกระทบด้านสุขภาพช

  1. การแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน

    4.1 อนุรักษ์พลังงาน

    4.2 อนุรักษ์ป่าไม้

    4.3 อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

  1. ลงมือเขียน

นำโครงเรื่องที่วางไว้มาเขียนขยายความในแต่ละหัวข้อให้ครบถ้วน และเมื่อเขียนเสร็จแล้ว ควรอ่านบทความตรวจทานซ้ำดูว่าเป็นอย่างไรบ้าง ลื่นไหล สมเหตุสมผล น่าเชื่อถือ ได้ผลตามจุดมุ่งหมายหรือไม่ นอกจากนี้ควรตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลที่นำไปใช้ เช่น ข้อมูลค่าสถิติที่ใช้ประกอบ และตรวจการสะกดคำด้วย ถ้าไม่มีจุดบกพร่องใดๆ แล้ว จึงนำบทความไปเผยแพร่ค่ะ

 

อ่านมาถึงตรงนี้หวังว่าผู้อ่านจะได้รับรู้แนวทางในการเริ่มต้นเขียนบทความไปทดลองใช้ดู และมีความมั่นใจมากขึ้นที่จะลงมือเขียน ตัวผู้เขียนเองก็มีความตั้งใจที่จะปรับปรุงทักษะด้านการเขียนของตัวเองให้ดียิ่งขึ้นเช่นกัน จึงได้ค้นคว้าหาข้อมูลเกี่ยวกับเขียนบทความจากหลายที่ และกลายเป็นบทความนี้ขึ้นมาค่ะ ฝากสำหรับคนที่ยังไม่เคยเขียนบทความเรื่องอะไรมาก่อนเลย (แต่อยากที่จะเขียน) ลองเลือกเขียนเรื่องที่เรามีความรู้มีความชำนาญ (สอนทำอะไรสักอย่างก็ได้ค่ะ) การที่เราเขียนบทความออกมาสักเรื่อง ไม่เพียงแต่ผู้อ่านจะได้รับประโยชน์ ตัวเราก็ได้รับประโยชน์เช่นกัน โดยได้ทั้งความรู้และได้ฝึกคิดวิเคราะห์ เพราะก่อนจะลงมือเขียนได้ต้องหาความรู้หาข้อมูลให้เพียงพอ และกว่าจะเขียนออกมาได้ก็ต้องคิดเรียบเรียงเนื้อหาก่อน และเมื่อบทความของเราได้เผยแพร่ออกไป เราก็จะได้รับความสุขใจ (เล็ก ๆ ) ได้แล้วนะค่ะ ^^

 

“การอ่านทำให้คนเต็มคน การฟังทำให้คนพร้อม การเขียนทำให้คนประณีต”

ความคิดเห็น