ผู้วิจัย

นางสาวฤทัยภัทร ให้ศิริกุล

บทคัดย่อ

ชื่อวิจัย แนวทางการส่งเสริมกลุ่มอาชีพผู้สูงอายุบนพื้นฐานทรัพยากรท้องถิ่น แบบมีส่วนร่วมของชุมชน ตำบลสร้างถ่อ อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี ผู้ดำเนินการวิจัย ฤทัยภัทร ให้ศิริกุล หน่วยงาน สาขาวิชาการจัดการ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ปี พ.ศ. 2560 บทคัดย่อ การวิจัยเรื่องแนวทางการส่งเสริมกลุ่มอาชีพผู้สูงอายุบนพื้นฐานทรัพยากรท้องถิ่น แบบมีส่วนร่วมของชุมชน ตำบลสร้างถ่อ อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี วัตถุประสงค์ คือ 1. เพื่อศึกษาบริบทผู้สูงอายุในพื้นที่ตำบลสร้างถ่อ อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี 2. เพื่อศึกษาความต้องการในการพัฒนาอาชีพเสริมกลุ่มผู้สูงอายุในพื้นที่ตำบลสร้างถ่อ อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี 3. เพื่อค้นหาแนวทางการส่งเสริมกลุ่มอาชีพผู้สูงอายุแบบมีส่วนร่วมโดยชุมชนท้องถิ่นที่เหมาะสมกับพื้นที่ ตำบลสร้างถ่อ อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี บนพื้นฐานทรัพยากรท้องถิ่น การศึกษาวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยแบบผสมระหว่างเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ โดยการวิจัยเชิงปริมาณ เก็บรวบรวมข้อมูลใช้แบบสอบถามสัมภาษณ์กับกลุ่มตัวอย่างผู้สูงอายุโดยสุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง (Purposive sampling) โดยสุ่มตัวอย่างเฉพาะผู้สูงอายุในพื้นที่ศึกษา จำนวน 20 คนส่วนข้อมูลเชิงคุณภาพรวบรวมโดยการสัมภาษณ์เชิงลึก สนทนากลุ่ม ประชุมเชิงปฏิบัติการและการสังเกตแบบมีส่วนร่วมกับกลุ่มผู้เกี่ยวข้องในชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 25 คน วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณใช้ค่าสถิติ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ส่วนการวิจัยเชิงคุณภาพวิเคราะห์เนื้อหาเทียบเคียงแนวคิด ทฤษฎีและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ควบคู่บริบทพื้นที่ ผลการวิจัยพบว่า 1) บริบทผู้สูงอายุในพื้นที่ตำบลสร้างถ่อ อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี ส่วนใหญ่ผู้สูงอายุที่ทำอาชีพนาเกลือจำนวน 20 คน ทุกคนนับถือพุทธศาสนา เป็นเพศหญิง มีจำนวน 17 คน และเป็นเพศชาย จำนวน 3 คน ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 70-74 ปี คิดเป็นร้อยละ 30 เกินกว่าครึ่งของกลุ่มอายุต่ำกว่า 60 ปี คิดเป็นร้อยละ 60 เนื่องจากนาเกลือเป็นอาชีพที่สืบทอดทางมรดก และส่วนใหญ่อายุเยอะมากไม่สามารถทำเองจึงมอบให้กับลูกหลานสืบทอดต่อ โดยส่วนใหญ่อาศัยอยู่หมู่ที่ 7 คิดเป็นร้อยละ 40 รองลงมาอยู่ในหมู่ 17 คิดเป็นร้อยละ 35 และหมู่ 6 คิดเป็นร้อยละ 25 โดยทั้งสามหมู่บ้านดังกล่าวอยู่ในพื้นที่ที่มีนาเกลือ ส่วนใหญ่จบชั้นประถมศึกษา คิดเป็นร้อยละ 95และในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย มีจำนวน 1 คนคิดเป็นร้อยละ 5 ซึ่งการศึกษาชั้นประถมจัดได้ว่าเป็นการศึกษาในระดับมาตรฐาน สามารถอ่านออกเขียนได้ เนื่องจากสมัยก่อนมีการเรียนชั้นระดับประถมสูงสุดคือ ชั้นประถมที่ 4 ส่วนใหญ่สถานะภาพมีคู่หรือสมรสแล้วมีจำนวน คิดเป็นร้อยละ 85 ซึ่งส่วนใหญ่มีบุตร 3 คน และยังมีชีวิตอยู่ทั้งสามคนคิดเป็นร้อยละ 40 ผู้สูงอายุร้อยละ 100 อาศัยในบ้านของตนเองหรือของคู่สมรสทั้งสิ้น โดยส่วนใหญ่อาศัยอยู่กับคู่สมรสและลูกคิดเป็นร้อยละ 65อาศัยอยู่กับคู่สมรสเพียงลำพัง คิดเป็นร้อยละ20 สาเหตุที่อาศัยอยู่กับคู่สมรสเพียงลำพังเกิดจากส่วนใหญ่บุตรหลานไปทำงานที่อื่นคิดเป็นร้อยละ50 ส่วนใหญ่ไม่มีปัญหาความเป็นอยู่ คิดเป็นร้อยละ 95 มีปัญหาในความเป็นอยู่ มีร้อยละ 5 มีสาเหตุของปัญหาคือ เหงา ว้าเหว่ ไม่มีคนดูแลเมื่อเจ็บป่วย และต้องเลี้ยงชีพด้วยตนเองหรือมีปัญหาการเงิน สุขภาวะด้านกาย 2) ศึกษาความต้องการในการพัฒนาอาชีพเสริมกลุ่มผู้สูงอายุในพื้นที่ตำบลสร้างถ่อ อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี สภาพปัญหาความต้องการในการพัฒนากลุ่มอาชีพเสริมกลุ่มผู้สูงอายุที่ผู้สูงอายุต้องการพัฒนาเรียงตามลำดับคือ ด้านการบริหารจัดการค่าเฉลี่ยความต้องการอยู่ที่ 96.67 ส่วนใหญ่คิดว่าปัญหาความต้องการในการพัฒนากลุ่มอาชีพด้านการบริหารจัดการคือไม่มีการแบ่งหน้าที่รับผิดชอบในกลุ่มอย่างชัดเจน คิดเป็นร้อยละ100 ด้านการตลาดค่าเฉลี่ยความต้องการอยู่ที่ 90 ส่วนใหญ่คิดว่าปัญหาความต้องการในการพัฒนากลุ่มอาชีพด้านการตลาดคือสินค้าและบริการไม่หลากหลาย คิดเป็นร้อยละ100 ด้านการผลิตค่าเฉลี่ยความต้องการอยู่ที่ 70 ส่วนใหญ่คิดว่าปัญหาความต้องการในการพัฒนากลุ่มอาชีพด้านการผลิตคือการไม่มีกระบวนการการผลิตที่ได้มาตรฐานหรือเครื่องหมายการันตี สินค้าและบริการไม่หลากหลาย คิดเป็นร้อยละ70 ด้านการเงินค่าเฉลี่ยความต้องการอยู่ที่ 65 ส่วนใหญ่คิดว่าปัญหาความต้องการในการพัฒนากลุ่มอาชีพด้านการเงินคือขาดแหล่งเงินทุนสนับสนุนเป็นปัญหาที่ต้องการพัฒนาด้านการเงิน คิดเป็นร้อยละ 70 ทั้งนี้ความต้องการส่งเสริมพัฒนาอาชีพกลุ่มผู้สูงอายุ ค่าเฉลี่ยความต้องการอยู่ที่ 95 จากการสอบสัมภาษณ์เป็นรายบุคคลและกลุ่มส่วนใหญ่นั้นกลุ่มผู้สูงอายุนั้นต้องการให้มีการส่งเสริมจัดตั้งกลุ่มอย่างเป็นทางการ สำหรับผู้ที่ไม่ต้องการให้มีการส่งเสริมนั้นจากการสัมภาษณ์ทั้งตัวผู้ตอบคำถามและกลุ่มผู้สูงอายุพบว่า สาเหตุเกิดจากการมีพื้นที่นาเกลือจำนวนมากจึงสามารถทำการผลิตเกลือได้จำนวนมาส่งผลต่อการก่อให้เกิดรายได้จำนวนมากเมื่อเปรียบเทียบกับผู้สูงอายุคนอื่นๆ จึงทำให้ไม่สนใจในการรวมกลุ่มอาชีพ แต่สนใจในการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ให้หลากหลายเพื่อสร้างมูลค่า และก่อให้เกิดรายได้เพิ่มจาการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ 3) แนวทางการส่งเสริมกลุ่มอาชีพผู้สูงอายุแบบมีส่วนร่วมโดยชุมชนท้องถิ่นที่เหมาะสมกับพื้นที่ ตำบลสร้างถ่อ อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี ความต้องการในการพัฒนากลุ่มอาชีพเสริมกลุ่มผู้สูงอายุที่ผู้สูงอายุต้องการพัฒนาเรียงตามลำดับคือ ด้านการตลาด ค่าเฉลี่ยความต้องการคิดเป็นร้อยละ 92.50 โดยผู้สูงอายุส่วนใหญ่เห็นว่าการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการนั้นเป็นความต้องการพัฒนาด้านการตลาดมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ95 ด้านการบริหารจัดการ ค่าเฉลี่ยความต้องการคิดเป็นร้อยละ 91.43 ส่วนใหญ่พบว่า การจัดตั้งกลุ่มอาชีพผู้สูงอายุอย่างเป็นทางการ , การแบ่งหน้าที่รับผิดชอบกลุ่มอย่างชัดเจน และการส่งเสริมจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดตั้งกลุ่มอาชีพผู้สูงอายุ ทั้งสามความต้องการเป็นที่ต้องการพัฒนาด้านการบริหารจัดการมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ95 ด้านการเงิน ค่าเฉลี่ยความต้องการคิดเป็นร้อยละ86.67 ส่วนใหญ่เห็นว่ามีแหล่งทุนสนับสนุน เป็นความต้องการเป็นที่ต้องการพัฒนาด้านการเงิน คิดเป็นร้อยละ90 ด้านการผลิต ค่าเฉลี่ยความต้องการคิดเป็นร้อยละ 80 ส่วนใหญ่เห็นว่า สร้างกระบวนการผลิตให้ได้มาตรฐานหรือเครื่องหมายรับรอง และ การพัฒนาแหล่งวัตถุดิบหรือการจัดการวัตถุดิบ เป็นความต้องการเป็นที่ต้องการพัฒนาด้านการผลิต คิดเป็นร้อยละ85 ทั้งนี้ผู้สูงอายุส่วนใหญ่เห็นว่าการผลักดันให้เกิดการจัดตั้งกลุ่มอาชีพเสริมผู้สูงอายุในตำบลสร้างถ่อ คิดเป็นร้อยละ 90 จากการศึกษาและได้ผลการวิจัยทางผู้วิจัยได้ร่วมกับทางอบต.สร้างถ่อ จัดอบรมการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์จากทรัพยากรท้องถิ่น(เกลือสินเธาว์)เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์(เกลือสินเธาว์) ให้กับผู้สูงอายุกลุ่มเกลือและผู้สูงอายุที่สนใจ โดยก่อนอบรมได้มีการสอบถามข้อมูลและเลือกกิจกรรมการอบรมที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุ คือ การอบรมทำเกลือสปาแช่เท้า เกลือสปาขัดผิว เกลือขัดผิวสูตรนม ซึ่งได้รับความพึงพอใจจากผู้สูงอายุเนื่องจากสามารถร่วมทำกิจกรมได้ และวิธีการทำไม่ยุ่งยาก สามารถเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์เกลือ โดยทำเป็นของชำรวยของที่ระลึก ทั้งนั้นทางอบต.สร้างถ่อจึงนโยบายในการบรรจุลงในกิจกรรมของโรงเรียนผู้สูงอายุ และจะผลักดันจัดตั้งกลุ่มอาชีพเสริมผู้สูงอายุบนพื้นฐานทรัพยากรท้องถิ่นเพื่อพัฒนาคุณภาพชึวิตผู้สูงอายุ ด้านกาย ด้านใจ ด้านสังคมและด้านเศรษฐกิจต่อไป

ความคิดเห็น