ผู้วิจัย

กุลธิดา ธรรมรัตน์* ปวีณา บุญประโคน ปัทมา พะเนตรรัมย์ และธีรารัตน์ จีระมะกร

บทคัดย่อ

การศึกษาในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ผลิตปุ๋ยมูลไส้เดือนจากเศษอาหารร่วมกับผักกาดขาว 2) เพื่อศึกษาคุณสมบัติทางกายภาพ คุณสมบัติทางเคมี และวิเคราะห์ปริมาณธาตุอาหารหลักของปุ๋ยมูลไส้เดือน 3) เพื่อศึกษาประสิทธิภาพของปุ๋ยมูลไส้เดือนต่อการเจริญเติบโตของผักกวางตุ้ง โดยปุ๋ยมูลไส้เดือนมีทั้งหมด 3 สูตรมีอัตราส่วนผสม 1:1 คือ 1) เศษอาหาร 4 กิโลกรัม ผสมกับมูลวัว 4 กิโลกรัม 2) เศษผักกาดขาว 4 กิโลกรัม ผสมกับมูลวัว 4 กิโลกรัม 3) เศษอาหาร 2 กิโลกรัม ร่วมกับผักกาดขาว 2 กิโลกรัม ผสมกับมูลวัว 4 กิโลกรัม ออกแบบแผนการทดลองแบบสุ่มสมบูรณ์ (complete Randomized Design : CRD) ในการทดลองปลูกผักกวางตุ้งจำนวน 4 ชุดการทดลอง จำนวน 5 ซ้ำ และการวิเคราะห์ทางเคมีของปุ๋ยมูลไส้เดือน 3 สูตร สูตรที่ 1, 2, และ 3 พบว่ามีค่าตามลำดับดังนี้ ค่าความเป็นกรด–ด่าง (pH) เท่ากับ 6.78, 7.93, และ 7.32 ค่าความชื้น (เปอร์เซ็นต์) 1.5544, 2.0633 และ 3.0802 ค่าการนำไฟฟ้า (เดซิซีเมน/เมตร) 0.0030, 0.0030 และ 0.0050 ปริมาณอินทรียวัตถุ (ร้อยละ) 60.53, 60.51 และ 60.62 มีปริมาณธาตุอาหารหลักได้แก่ ไนโตรเจนเท่ากับร้อยละ 1.00, 1.00 และ 1.20 ตามลำดับ มีฟอสฟอรัส เท่ากับร้อยละ 0.50, 0.40 และ 0.60 ตามลำดับ และมีโพแทสเซียม เท่ากับร้อยละ 1.30, 1.20 และ 1.3 ตามลำดับ การศึกษาผลต่อการเจริญเติบโตของผักกวางตุ้ง พบว่า ปุ๋ยมูลไส้เดือนสูตรที่ 3 (ปุ๋ยมูลไส้เดือนจากเศษอาหารร่วมกับผักกาดขาว) ให้ค่าการเจริญเติบโตด้านความสูงของลำต้น ความกว้างของใบ ความยาวของใบ จำนวนใบ เส้นรอบวง และน้ำหนักสด-แห้ง อย่างมีอย่างนัยสำคัญทางสถิติ (p≤0.05) ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าปุ๋ยมูลไส้เดือนที่ผลิตขึ้นมีความเหมาะสมต่อการใช้ปลูกผักกวางตุ้ง

บรรณานุกรม

[1] บัญชา รัตนีทู. (2555). ปุ๋ยอินทรีย์กับการปรับปรุงดินเสื่อมคุณภาพ. วารสารมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ปีที่ 4 ฉบับที่ 2 (พฤษภาคม–สิงหาคม 2555), หน้า 115 – 127. [2] กรมวิชาการเกษตร. (2548). ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่องหลักการวิธีการและเงื่อนไขการขอรับรอง การผลิตมาตรฐานปุ๋ยอินทรีย์.

ความคิดเห็น